เฟดออกข้อกำหนดสภาพคล่องขั้นต่ำที่เข้มงวดขึ้นสำหรับแบงก์ใหญ่

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 4, 2014 11:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้สรุปขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับกฎระเบียบที่กำหนดให้สถาบันการเงินรายใหญ่ต้องมีสภาพคล่องสำรองมากขึ้นเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น

กฎระเบียบดังกล่าวจะระบุข้อกำหนดเกี่ยวกับสภาพคล่องขั้นต่ำตามมาตรฐานสำหรับองค์กรด้านการธนาคารขนาดใหญ่ที่ดำเนินงานระหว่างประเทศ โดยนับเป็นครั้งแรกที่มีข้อกำหนดในลักษณะดังกล่าว

ภายใต้กฎระเบียบใหม่ ธนาคารขนาดใหญ่จะต้องถือครองสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องและคุณภาพสูง เช่น เงินที่สำรองไว้กับธนาคารกลาง พันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ของภาคเอกชน ในสัดส่วนที่ไม่ต่ำกว่า 10% ของกระแสเงินสดไหลออกสุทธิสำหรับระยะเวลา 30 วันในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ สัดส่วนการสำรองสภาพคล่องขั้นต่ำที่มีความเข้มงวดดังกล่าว ซึ่งเป็นสัดส่วนสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่อปริมาณเงินสดไหลออกสุทธิที่คาดการณ์ไว้ของสถาบันการเงินนั้น จะมีผลบังคับใช้กับสถาบันการเงินทุกแห่งที่มีสินทรัพย์รวมมากกว่า 2.50 แสนล้านดอลลาร์ หรือมีการลงทุนในต่างประเทศในงบดุลบัญชีตั้งแต่ 1.0 หมื่นล้านดอลลาร์ขึ้นไป

นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ระบุในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า กฎระเบียบดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญของเฟด “เพื่อยกระดับความปลอดภัยและความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ รวมทั้งความมีเสถียรภาพของระบบการเงินสหรัฐ"

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางรายเตือนว่า ข้อกำหนดข้างต้นอาจจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการปล่อยกู้และการลงทุนของธนาคารต่างๆ เนื่องจากธนาคารจะมีสัดส่วนน้อยลงในสินทรัพย์ที่จะใช้ในการทำกิจกรรมลักษณะดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ