รายงานการประชุมเฟดเดือนมี.ค.ชี้จนท.เฟดมีความเห็นต่างต่อการขึ้นดบ.ในเดือนมิ.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 9, 2015 09:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 17-18 มี.ค.ระบุว่า เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายการเงินของเฟดมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นที่ว่าเฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.หรือไม่

เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายเชื่อว่าข้อมูลและทิศทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะเอื้อต่อการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในเดือนมิ.ย. ขณะที่เจ้าหน้าที่รายอื่นๆระบุว่าจะมีความเหมาะสมในการเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ เมื่อพิจารณาถึงภาวะเงินเฟ้อที่ระดับต่ำ และเจ้าหน้าที่บางรายชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะยังไม่พร้อมสำหรับนโยบายการเงินที่คุมเข้มมากขึ้นจนกว่าจะถึงปี 2559

เจ้าหน้าที่ ซึ่งสนับสนุนให้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกภายในปีนี้ ระบุว่าผลกระทบจากการร่วงลงของราคาพลังงานและสกุลดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า จะยังคงถ่วงเงินเฟ้อในระยะใกล้

ดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็นมาตรวัดระดับเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสนใจนั้น เพิ่มขึ้นเพียง 0.3% เมื่อเทียบรายปี ในเดือนก.พ. ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ของเฟด

ในแถลงการณ์หลังการประชุมเดือนมี.ค. เฟดได้ยกเลิกการใช้คำว่า "อดทน" ในการพิจารณากำหนดเวลาสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ แต่ระบุว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย "ไม่มีแนวโน้ม" ที่จะเกิดขึ้นในการประชุมเดือนเม.ย.

ทางด้านนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด กล่าวหลังการประชุมในเดือนที่แล้วว่า เฟดจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากตลาดแรงงานยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และเฟด “ค่อนข้างเชื่อมั่น" ว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวกลับมาสู่เป้าหมายที่ 2%

รายงานการประชุมแสดงให้เห็นถึงเหตุผลสำหรับความเชื่อมั่นของเจ้าหน้าที่เฟดที่มีต่อแนวโน้มเงินเฟ้อ โดยระบุว่า “การปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องของตลาดแรงงาน ความมีเสถียรภาพของราคาพลังงาน และการปรับตัวอย่างสมดุลของมูลค่าดอลลาร์สหรัฐ ต่างเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้น"

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เฟดยังแสดงความวิตกอยู่บ้างเกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจ เช่น ดอลลาร์ที่แข็งค่า ขณะที่รายงานการประชุมระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายกังวลว่าดอลลาร์ที่แข็งค่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐไปสักระยะหนึ่ง และบางรายตั้งข้อสังเกตว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางบางประเทศ อาจจะส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าต่อไปอีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ