กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น เปิดเผยข้อมูลในวันนี้ (9 พ.ค.) ว่า ค่าจ้างที่แท้จริงปรับตัวลดลง 2.1% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับว่าลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนให้เห็นว่าการเติบโตของรายได้ยังคงตามไม่ทันอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น
ค่าจ้างตามตัวเลขหรือรายได้รวมเฉลี่ยต่อคนต่อเดือน ซึ่งรวมทั้งเงินเดือนพื้นฐานและค่าล่วงเวลา มีการเติบโตขึ้น 2.1% แตะระดับ 308,572 เยน (2,100 ดอลลาร์) และเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 39
อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการคำนวณค่าจ้างที่แท้จริงนั้น ได้พุ่งสูงขึ้นถึง 4.2% ในเดือนมี.ค. โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาข้าวและสินค้าอาหารอื่น ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราการเพิ่มขึ้นนี้ถือว่าชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก.พ.ที่ขยายตัว 4.3%
ขณะเดียวกัน ข้อมูลอีกด้านหนึ่งจากกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น ระบุว่า ในเดือนมี.ค. การใช้จ่ายภาคครัวเรือนโดยเฉลี่ย (สำหรับครัวเรือนที่มีสมาชิกสองคนขึ้นไป) อยู่ที่ 339,232 เยน ซึ่งเมื่อปรับผลกระทบจากเงินเฟ้อแล้ว พบว่าเพิ่มขึ้นจริง 2.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่น