ผลสำรวจภาคเอกชนที่เผยแพร่วันนี้ (1 ก.ค.) ระบุว่า ภาคการผลิตของญี่ปุ่นในเดือนมิ.ย.ได้ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน โดยมีแรงหนุนจากการผลิตที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี อุปสงค์โดยรวมยังคงอ่อนแอ เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ยังคงหดตัว ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐฯ
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นจาก au Jibun Bank ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.1 ในเดือนมิ.ย. จาก 49.4 ในเดือนพ.ค.
แม้ตัวเลขขั้นสุดท้ายนี้จะต่ำกว่าตัวเลข PMI เบื้องต้นที่ 50.4 แต่ก็สามารถขยับขึ้นมายืนเหนือระดับ 50.0 ได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2567
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว
เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของดัชนีย่อย พบว่าผลผลิตภาคโรงงานกลับมาเติบโตในเดือนมิ.ย. ยุติภาวะหดตัวที่ดำเนินมา 9 เดือนติดต่อกัน ผู้ประกอบการบางส่วนให้เหตุผลว่าการผลิตที่เพิ่มขึ้นนี้สะท้อนความหวังว่าอุปสงค์ในอนาคตจะดีขึ้น ขณะที่บางส่วนระบุว่าเป็นการเร่งผลิตเพื่อลดปริมาณแบ็กล็อก
ขณะเดียวกัน ดัชนีย่อยที่ชี้วัดความคาดหวังต่อผลผลิตในอนาคตพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 5 เดือน และการจ้างงานก็ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนเรื่องกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อใหม่หดตัวลงเป็นเดือนที่ 25 ติดต่อกัน และหดตัวในอัตราที่เร็วกว่าเดือนพ.ค. ส่วนยอดคำสั่งซื้อใหม่จากต่างประเทศก็ตกต่ำต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2565
ผลสำรวจระบุว่า บริษัทบางแห่งชี้ว่าแนวโน้มที่ไม่ชัดเจนของกำแพงภาษีสหรัฐฯ กำลังส่งผลกระทบต่อยอดขาย โดยเฉพาะในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และยานยนต์
อนึ่ง ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังเร่งเจรจาเพื่อขอการยกเว้นจากสหรัฐฯ สำหรับมาตรการกำแพงภาษีรถยนต์ 25% เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ซึ่งเป็นเสมือนกระดูกสันหลังของภาคการผลิตที่พึ่งพาการส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวมของญี่ปุ่น
สำหรับประเด็นเงินเฟ้อ ดัชนีย่อยด้านราคาปัจจัยการผลิตและราคาผลผลิตต่างปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนพ.ค. โดยบริษัทต่าง ๆ อ้างถึงต้นทุนวัตถุดิบ ค่าแรง และค่าพลังงานที่สูงขึ้น