จีนจ่อคลายเพดานถือหุ้นของชาวต่างชาติ หวังดึงดูดเงินทุนเข้าประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 22, 2023 16:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวว่า จีนกำลังพิจารณาผ่อนคลายกฎระเบียบที่จำกัดการถือครองกรรมสิทธิ์ของต่างชาติในบริษัทมหาชนในประเทศ เพื่อดึงดูดเงินทุนกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นมูลค่า 9.4 ล้านล้านดอลลาร์ของประเทศ

แหล่งข่าวระบุว่า ทางการจีนกำลังพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อสนับสนุนการถือหุ้นของต่างชาติในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น และปักกิ่ง ในฐานะส่วนหนึ่งของการผลักดันเพื่อเปิดตลาดและส่งเสริมการซื้อขาย โดยในขณะนี้ จีนจำกัดการถือครองกรรมสิทธิ์ของต่างชาติในบริษัทจดทะเบียนในประเทศที่ 30% และจำกัดการถือครองหุ้นของต่างชาติแต่ละรายไว้ที่ 10%

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาล่าสุดเกี่ยวกับการถือหุ้นของต่างชาติยังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้นและยังไม่มีการตัดสินใจรายละเอียดเกี่ยวกับภาคส่วนที่อาจได้รับผลประโยชน์และเพดานจำกัดใหม่

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของจีน (CSRC) และสำนักงานปริวรรตเงินตราแห่งรัฐของจีน (SAFE) ยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นให้ประเด็นดังกล่าว

การหารือดังกล่าวมีขึ้นหลังท่ามกลางการไหลออกของเงินทุนต่างชาติจากตลาดหลักทรัพย์จีนอย่างต่อเนื่อง และหุ้นต่าง ๆ ในประเทศที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มที่ทำผลงานได้แย่ที่สุดในปีนี้ และเป็นอีกสัญญาณที่บ่งบอกว่าจีนกำลังดำเนินการตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้ในที่ประชุมคณะกรรมการกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (โปลิตบูโร) ว่า "จะกระตุ้นตลาดทุนและเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุน"

นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้น A-shares มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อเดือนที่แล้ว และการถือครองหลักทรัพย์และตราสารหนี้ของจีนลดลงประมาณ 1.37 ล้านล้านหยวน (1.88 แสนล้านดอลลาร์) หรือ 17% จากระดับสูงสุดในเดือนธ.ค. 2564 จนถึงสิ้นเดือนมิ.ย. 2566

นักลงทุนทั่วโลกกำลังแห่เทขายหลักทรัพย์จีน ท่ามกลางความกังวลนานัปการ ตั้งแต่เศรษฐกิจที่เปราะบางของจีน ไปจนถึงวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเกิดขึ้นและความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงกับสหรัฐ ทั้งนี้ ในบรรดามาตรการเพื่อคลายความกังวลของนักลงทุน ทางการจีนได้ปรับลดค่าธรรมเนียมการจัดการสำหรับธุรกรรมหุ้นและภาษีอากรแสตมป์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ