ตลาดหุ้นเอเชียเปิดไร้ทิศทางในวันนี้ (16 พ.ค.) ขณะที่นักลงทุนประเมินตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ล่าสุดของญี่ปุ่น และรอรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอื่น ๆ ในภูมิภาค
ด้านฮ่องกงและมาเลเซียจะเปิดเผยข้อมูล GDP ในวันนี้เช่นกัน
-- ความหวังเรื่องการหยุดยิงในยูเครนเริ่มริบหรี่ หลังจากวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ส่งผู้แทนระดับล่างเข้าร่วมการเจรจาที่ประเทศตุรกี ขณะเดียวกันความสนใจก็มุ่งไปที่ความพยายามในสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ที่ต้องการออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม เพื่อกดดันให้ปูตินยอมเจรจา
มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ลดความคาดหวังต่อการเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่จะจัดขึ้นที่นครอิสตันบูลในวันนี้ (16 พ.ค.) โดยชี้ว่ามีโอกาสน้อยที่จะมีความคืบหน้า หากไม่มีการพบกันโดยตรงระหว่างปูตินกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ
รูบิโอซึ่งมีกำหนดเดินทางไปอิสตันบูลในวันนี้ จะไม่เข้าร่วมการเจรจาดังกล่าว โดยจะมีเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รายอื่นเข้าร่วมเจรจาแทน หลังจากที่รัสเซียประกาศว่าจะส่งแค่เจ้าหน้าที่ระดับล่างเข้าร่วมการพูดคุย ขณะที่รูบิโอจะไปพบปะหารือแยกต่างหากกับผู้แทนระดับสูงของยูเครน และ ฮาคาน ฟิดาน รัฐมนตรีต่างประเทศของตุรกี
-- เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยระยะยาวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง และนโยบายการเงินกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน
ในการกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม Thomas Laubach Research Conference เมื่อวานนี้ (15 พ.ค.) ซึ่งมีการทบทวนกรอบนโยบายของเฟด พาวเวลระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากนับตั้งแต่ที่เฟดได้ทบทวนกรอบนโยบายครั้งล่าสุดในปี 2563
-- สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านลดลง 6 จุด สู่ระดับ 34 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2566 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 40
ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และการพุ่งขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้างที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ อันเนื่องจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า
-- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.พ.
สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าปลีกลดลง 0.2% ส่วนสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเพิ่มขึ้น 0.4%
-- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐฯ ทรงตัวในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากลดลง 0.3% ในเดือนมี.ค.
เมื่อเทียบรายปี การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1.5% ในเดือนเม.ย.
-- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ประจำเดือนเม.ย.เมื่อวานนี้ (15 พ.ค.)
ดัชนี PPI ทั่วไป (Headline PPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.5% จากระดับ 3.4% ในเดือนมี.ค.
-- ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่จะเปิดเผยในวันนี้ (16 พ.ค.) ได้แก่ ญี่ปุ่นเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2568 (ประมาณการเบื้องต้น) และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค., สิงคโปร์เปิดเผยยอดส่งออกไม่รวมน้ำมันเดือนเม.ย., อียูเปิดเผยดุลการค้าเดือนมี.ค. และสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนเม.ย., ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือนเม.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนพ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน