คณะกรรมการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) แนะว่า BOJ ควรใช้ความระมัดระวังในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น เนื่องจากจำเป็นต้องใช้เวลาศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบาย
อาซาฮี โนงุจิ หนึ่งในคณะกรรมการ BOJ ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (สายพิราบ) ระบุว่า ผมเชื่อว่าสิ่งสำคัญคือธนาคารต้องดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวังและเป็นขั้นตอน พร้อมย้ำชัดว่า BOJ ควรใช้เวลาอย่างเพียงพอในการประเมินผลกระทบทุกครั้งที่ BOJ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า BOJ ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 3 ครั้งนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี และยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ซึ่งถือเป็นการหมดยุคของการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างมากของญี่ปุ่นที่ดำเนินมายาวนานกว่าทศวรรษ
ในส่วนของการปรับลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นของ BOJ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อเดือนส.ค.ปีที่แล้วนั้น โนงุจิมองว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงใด ๆ พร้อมคาดว่า BOJ จะตัดสินใจเรื่องนี้ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งต่อไปในเดือนมิ.ย.
นอกจากนี้ BOJ ได้ตัดสินใจเมื่อเดือนก.ค.ปีที่ผ่านมาให้ลดการถือครองสินทรัพย์ที่อยู่ในงบดุล โดยแผนดังกล่าวครอบคลุมระยะเวลาถึงเดือนมี.ค. 2569 โดยโนงุจิระบุว่า BOJ จำเป็นต้องพิจารณาแผนการปรับลดสินทรัพย์สำหรับช่วงหลังเดือนเม.ย. 2569 เป็นต้นไปในมุมมองระยะยาว พร้อมเสริมว่า BOJ ยังมีเวลาเพียงพอในการลดขนาดงบดุล ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด