เอ็ดเวิร์ด โรบินสัน รองผู้ว่าการธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) กล่าวในการประชุมนโยบายการเงินวันนี้ (23 พ.ค.) ว่า ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียจำเป็นต้องรักษาความคล่องตัวทางเศรษฐกิจ และไม่ควรตอบโต้มาตรการภาษีศุลกากรด้วยวิธีการแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน เพราะจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านอุปทานในเชิงลบ ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินมีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางจะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างการผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตหรือฉุดเงินเฟ้อให้ชะลอตัวลง
โรบินสันกล่าวว่า ประเทศเอเชียควรหลีกเลี่ยงการทำลายผลผลิตในประเทศของตนเอง และเร่งกระบวนการรวมตัวทางการค้าในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการค้าดิจิทัล การบริการ และการลงทุน
นอกจากนี้ เขากล่าวว่านโยบายกีดกันทางการค้าและภาษีนำเข้าถือเป็นอุปสรรคขัดขวางการจัดสรรทรัพยากร และทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย เนื่องจากครัวเรือนในประเทศเผชิญกับราคาสินค้าที่สูงขึ้นและมีทางเลือกที่น้อยลง
สำหรับสิงคโปร์นั้น แม้จะมีการทำข้อตกลงการค้าเสรีและมีการขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ แต่สิงคโปร์ก็ยังถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 10% ซึ่งแม้จะน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่เนื่องจากการค้ามีสัดส่วนประมาณสามเท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สิงคโปร์จึงยังคงมีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญผลกระทบจากการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของการค้าโลก
รัฐบาลสิงโปร์เปิดเผยว่า GDP ขยายตัว 3.9% ในไตรมาส 1/2568 เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส GDP หดตัวลง 0.6%
รัฐบาลสิงคโปร์ได้คงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของ GDP สำหรับปี 2568 เอาไว้ในกรอบ 0.0% - 2.0% เนื่องจากมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการค้าทั่วโลก ขณะที่นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ได้เตือนเมื่อไม่นานมานี้ว่า รัฐบาลไม่ตัดความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจของประเทศจะเผชิญภาวะถดถอย