BOJ ยุติถือหุ้นสถาบันการเงิน หลังทุ่มซื้อตั้งแต่ปี 2545 เพื่อปกป้องระบบธนาคาร

ข่าวต่างประเทศ Monday July 14, 2025 13:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการในวันนี้ (14 ก.ค.) ว่า BOJ ได้เสร็จสิ้นการขายหุ้นมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ที่ซื้อมาจากสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาตั้งแต่ปี 2545 โดยวัตถุประสงค์ของการเข้าซื้อหุ้นในเวลานั้นคือ เพื่อยับยั้งความตื่นตระหนกในตลาดและเพื่อป้องกันระบบธนาคาร หลังจากญี่ปุ่นเผชิญวิกฤตการเงินภายในประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว รวมทั้งผลกระทบจากการล้มละลายของธนาคารเลห์แมน บราเธอร์ส (Lehman Brothers)

ทั้งนี้ BOJ ใช้มาตรการพิเศษอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนด้วยการเข้าซื้อหุ้นจากธนาคารพาณิชย์ในปี 2545 เพื่อปกป้องผลประกอบการของธนาคารเหล่านั้นไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวของตลาด เนื่องจากในเวลานั้นสถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้ต้องเผชิญกับปัญหาหนี้เสียหลังเกิดเหตุการณ์ฟองสบู่สินทรัพย์แตกในช่วงต้นคริสตทศวรรษ 1990 ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงิน

BOJ เริ่มขายหุ้นดังกล่าวออกมาในปี 2550 แต่ได้ระงับการขายในปี 2551 เมื่อเกิดวิกฤตการเงินโลก ต่อมา BOJ กลับมาซื้อหุ้นอีกครั้งเป็นเวลาสองปีจนถึงปี 2553 เพื่อพยุงตลาด ก่อนที่จะกลับมาขายหุ้นดังกล่าวอีกครั้งในปี 2559 หลังจากความกังวลทางการเงินเริ่มลดน้อยลง

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า BOJ ต้องการยุติมาตรการที่ระบุว่าเป็น "มาตรการพิเศษ" สำหรับธนาคารกลาง โดย BOJ ได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นทางการเงินเป็นเวลานานกว่า 20 ปีเพื่อพยุงเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เผชิญภาวะเงินฝืด

ณ วันที่ 30 มิ.ย. BOJ ถือครองหุ้นมูลค่าประมาณ 2.54 พันล้านเยน (17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายใต้การจัดการของทรัสต์แห่งหนึ่ง แต่ข้อมูล ณ วันที่ 10 ก.ค. ระบุว่า BOJ ถือครองหุ้นเป็นศูนย์ และตอนนี้ตลาดหันไปจับตาว่า BOJ จะเริ่มขายหลักทรัพย์ประเภทอื่น ๆ เมื่อใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ