นายสกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวในวันนี้ว่า การบังคับใช้ภาษีศุลกากรในอัตราสูงต่อประเทศต่าง ๆ ในวันที่ 1 ส.ค. จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้ประเทศเหล่านั้นต้องนำเสนอข้อตกลงที่ดีกว่าแก่สหรัฐ
ถ้อยแถลงของนายเบสเซนต์บ่งชี้ว่า ภาษีศุลกากรที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วางแผนเรียกเก็บจากประเทศคู่ค้า ซึ่งได้เลื่อนการบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 1 ส.ค. ไม่ได้เป็นเพียงเส้นตายสำหรับการทำข้อตกลงเท่านั้น แต่เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการเจรจาเพื่อบีบบังคับให้ประเทศคู่ค้ายอมรับเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐ
ต่อคำถามที่ว่า เส้นตายในเดือนส.ค.จะสามารถขยายออกไปสำหรับประเทศที่กำลังมีความคืบหน้าในการเจรจาหรือไม่ นายเบสเซนต์กล่าวว่า "เราต้องดูว่าท่านประธานาธิบดีจะตัดสินใจอย่างไร โดยเรายังสามารถเจรจากันต่อไปได้ แต่เราจะเดินหน้าการเจรจาตามแผนที่วางไว้ และจะไม่เร่งรีบเพียงเพื่อให้ได้ข้อตกลง"
ทั้งนี้ เส้นตายในการเรียกเก็บภาษีของปธน.ทรัมป์ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้งนับตั้งแต่การประกาศเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าเส้นตายในวันที่ 1 ส.ค.จะเป็นเส้นตายที่แท้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงเครื่องมือต่อรองของปธน.ทรัมป์ที่ใช้กดดันประเทศคู่ค้าให้กลับมาเจรจา
นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณบ่งชี้ว่า นายเบสเซนต์มองว่าการเรียกเก็บภาษีในวันที่ 1 ส.ค. แม้จะเริ่มบังคับใช้แล้ว ก็ยังเป็นเพียงเครื่องมือต่อรองทางการค้า เพราะเขากล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับคุณภาพของข้อตกลงทางการค้า มากกว่าการต้องบรรลุข้อตกลงให้ทันก่อนวันที่ 1 ส.ค.
"สิ่งสำคัญคือคุณภาพของข้อตกลง ไม่ใช่แค่เรื่องเวลา" นายเบสเซนต์กล่าวด้านนายโฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ กล่าวว่า วันที่ 1 ส.ค. ถือเป็นกำหนดเส้นตายสำหรับประเทศต่าง ๆ ที่จะต้องเริ่มชำระภาษีศุลกากรให้กับสหรัฐ
"นี่เป็นเส้นตายที่ชัดเจน ดังนั้น ในวันที่ 1 ส.ค. อัตราภาษีใหม่จะมีผลบังคับใช้" นายลุตนิกกล่าวอย่างไรก็ดี นายลุตนิกกล่าวเสริมว่า "ไม่มีอะไรที่จะมาหยุดยั้งประเทศเหล่านี้จากการเจรจากับเราหลังวันที่ 1 ส.ค. แต่พวกเขาจะต้องเริ่มจ่ายภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค."
นายลุตนิกยังระบุว่า ประเทศขนาดเล็ก เช่น ประเทศลาตินอเมริกา ประเทศในแถบแคริบเบียน และอีกหลายประเทศในแอฟริกา จะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราขั้นต่ำ 10% ส่วนประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะต้องเลือกว่าจะเปิดตลาดของตนเอง หรือจะยอมจ่ายภาษีที่เป็นธรรมให้กับสหรัฐ