ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เบื้องต้นของยูโรโซนในเดือนก.ค.ดีดตัวขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 50 โดยเพิ่มขึ้น 1.7 จุด มาอยู่ที่ 50.4 จาก 48.7 ในเดือนมิ.ย. โดยได้รับแรงหนุนจากดัชนีภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ 50.1 และ 49.6 ตามลำดับ ในเดือนนี้ โดยนับเป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือนที่ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการต่างก็ปรับตัวในช่วงขาขึ้น
นายมาร์โค สตริงกา จากดอยช์ แบงก์กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า "อาจพูดได้ว่าอุปสงค์ในต่างประเทศกำลังผลักดันการขยายตัวในยูโรโซน ขณะที่ภาคบริการก็ปรับตัวขึ้นด้วย และเมื่อพิจารณาจากประเทศในภูมิภาคที่ยังคงมีปัญหาหนี้สินต่อเนื่องนั้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยูโรโซนปรับตัวดีขึ้นก็คืออุปสงค์จากต่างประเทศที่มาจากสหรัฐ"
นักเศรษฐศาสตร์จากดอยช์ แบงก์กล่าวว่า ธนาคากลางยุโรป (อีซีบี) อาจจะสามารถชะลอการดำเนินมาตรการ โดยกล่าวเสริมว่านโยบายการเงินอาจจะไม่เป็นไปในเชิงรุกมากเกินไป และอาจจะยังคงสอดคล้องกับพันธสัญญาในการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบันหรือต่ำกว่านี้ต่อไปสักระยะหนึ่ง
ในแง่ของนโยบายการคลังนั้น นายสตริงกากล่าวว่านโยบายการคลังทำให้ประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส อาจจะมีโอกาสได้หายใจบ้างเล็กน้อย และอาจเป็นการช่วยรัฐบาลในโปรตุเกส สเปนและอิตาลี ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาการเมืองภายในประเทศ
“การกลับมาขยายตัวอีกครั้งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และยังจะช่วยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความตึงเครียดทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นในยูโรโซนด้วย"
ด้านดร.โฮเวิร์ด อาร์เชอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายยุโรปและอังกฤษจาก IHS Global Insights กล่าวว่า “ความหวังสำหรับยูโรโซนก็คือความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปัจจุบันจะกระตุ้นให้ภาคธุรกิจชะลอการลดการจ้างงาน และจะมีความพร้อมมากขึ้นในการลงทุน และยังจะกระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย"
ดร.อาร์เชอร์กล่าวว่า อำนาจซื้อของผู้บริโภคได้รับแรงหนุนจากเงินเฟ้อราคาผู้บริโภคที่ไม่รุนแรงที่ 1.6% ทั่วยูโรโซนในเดือนมิ.ย.
ทั้งนี้ เขากล่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่อีซีบีจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมที่ 0.5% ในการประชุมกำหนดนโยบายการในวันที่ 1 ส.ค.นี้ สำนักข่าวซินหัวรายงาน