In Focusจีนสบช่องประโคมข่าวนมผงแดนกีวีปนเปื้อน หวังลดกระแสนิยมแบรนด์นอก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 7, 2013 11:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เหตุการณ์อื้อฉาวเกี่ยวกับความปลอดภัยของสินค้า "เมด อิน ไชน่า" ที่มีออกมาอย่างต่อเนื่องในระยะหลายปีที่ผ่านมา ได้ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ชาวจีนเอง พากันเข็ดขยาดสินค้าที่ผลิตในจีน โดยเฉพาะหลังจากที่มีการตรวจพบนมผงที่ผลิตโดย ซานลู่ บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน ปลอมปนสารเคมีอันตรายอย่างเมลามีน จนเป็นเหตุให้มีเด็กทารกเสียชีวิต 6 คน และเจ็บป่วยอีกราว 300,000 คน เมื่อปี 2551

รัฐบาลจีนพยายามอย่างหนักในการฟื้นคืนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ แต่ความต้องการนมผงนำเข้าจากต่างประเทศก็ยังคงพุ่งทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เกิดเหตุอื้อฉาวเมื่อ 5 ปีก่อน

การเสาะแสวงหานมผงที่ปลอดภัยให้ลูกน้อยได้กลายเป็นเรื่องสำคัญที่บรรดาพ่อแม่ชาวจีนให้ความใส่ใจเป็นลำดับต้นๆ แต่แล้วก็เหมือนฝันร้ายของคนเป็นพ่อเป็นแม่ เมื่อบริษัทฟอนเทียร่า ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ของนิวซีแลนด์ และรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก เปิดเผยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า บริษัทได้ตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย "คลอสตริเดียม โบทูลินัม" ปนเปื้อนอยู่ในเวย์โปรตีน หรือโปรตีนสกัดจากหางนมเข้มข้น ซึ่งเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์นมบางอย่างของบริษัท โดยแบคทีเรียชนิดนี้อาจก่อให้เกิดโรคโบทูลิซึม หรืออาหารเป็นพิษร้ายแรง ทำให้เป็นอัมพาตหรือถึงแก่ชีวิตได้ สำหรับสาเหตุของการปนเปื้อนนั้น เกิดจากท่อน้ำสกปรกที่โรงงานผลิตโปรตีนหางนมเข้มข้นแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเมืองไวกาโต บนเกาะเหนือของนิวซีแลนด์

ข่าวดังกล่าวถือเป็นข่าวช็อกสำหรับผู้บริโภคในจีน โดยพ่อแม่บางรายได้แสดงความโกรธและผิดหวัง เนื่องจากที่ผ่านมาพวกเขายอมเสียเงินแพงกว่า ด้วยการซื้อนมผงนำเข้า แทนแบรนด์ที่ผลิตในประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับลูกน้อย

คุณแม่คนหนึ่งที่มีชื่อในโลกไซเบอร์ว่า "Yaya Niur" ได้เขียนข้อความบน "เวยโป๋" ไมโครบล็อกยอดนิยมของจีนว่า "ฉันระมัดระวังเรื่องนมผงเสมอ และไม่เคยซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศเลย แต่แล้วกลับพบว่าตัวเองก็ยังคงตกเป็นเหยื่อ ฉันโกรธจนพูดไม่ออก บอกไม่ถูก! ขอโทษนะลูก แม่ปกป้องลูกไม่ได้"

ชาวเน็ตอีกคนหนึ่งที่ใช้ชื่อ "Miaoxiaojin" กล่าวว่า "ตอนนี้ แม้แต่นมนำเข้าก็สร้างปัญหา แล้วเราจะไว้ใจผลิตภัณฑ์ของใครได้อีก"

ในขณะที่ความชื่อมั่นของผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่มีต่อแบรนด์สินค้าจากต่างประเทศกำลังสั่นคลอน รัฐบาลจีนก็ไม่รอช้า หวังอาศัยโอกาสนี้กอบกู้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อแบรนด์สินค้าที่ผลิตในประเทศ และช่วยให้ผู้ผลิตนมของจีนกลับมาชนะใจประชาชนได้อีกครั้ง

สื่อจีน โดยเฉพาะสื่อของทางการต่างพากันประโคมข่าวนี้กันอย่างอึกทึกครึกโครม โดยหนังสือพิมพ์ The People's Daily ซึ่งเป็นกระบอกเสียงสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็ได้ตีพิมพ์ข่าวนี้เป็นข่าวใหญ่โตในหน้าหนึ่ง พร้อมแถลงถึงความพยายามของรัฐบาลจีนในการป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์ปนเปื้อนหลุดลอดเข้ามาในประเทศ พร้อมเตือนให้ผู้บริโภคอย่าหลงงมงายกับแบรนด์ต่างชาติ

ด้านสำนักข่าวซินหัวของทางการจีนระบุว่า "แต่ไหนแต่ไรมา นิวซีแลนด์โฆษณาผลิตภัณฑ์ของตนว่า 'บริสุทธิ์ 100%' อย่างไรก็ตาม ฟอนเทียร่าได้มีการตรวจพบปัญหามาอยู่เรื่อยๆ และเรื่องนี้กำลังเริ่มสั่นคลอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวจีนที่มีต่อ 'นมผงบริสุทธิ์ 100%' ของบริษัท"

"ความปลอดภัยของอาหารเป็นปัญหาธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัน การหลงเชื่อแบรนด์ต่างชาติอย่างไม่ลืมหู ลืมตาจึงไม่ใช่เรื่องฉลาด ไม่จำเป็นว่าอาหารจากต่างประเทศต้องดีที่สุด และสินค้า 'เมด อิน ไชน่า' ก็ไม่ได้บกพร่องไปเสียทั้งหมด"

บทวิจารณ์ในหนังสือพิมพ์ Global Times ระบุว่า "คุณภาพไม่มีพรมแดน ใครที่เห่อแบรนด์ต่างชาติอย่างไม่ลืมหู ลืมตานั้น ควรตื่นได้แล้ว"

อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับก็ยังเชื่อว่า กรณีฟอนเทียร่าจะไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจีน นอกจากนี้ สื่อบางสำนักยังได้ยอมรับความจริงที่ว่า ผู้ผลิตของจีนอาจไม่อยู่ในสถานะที่ดีที่สุดที่จะฉกฉวยความได้เปรียบจากความพลั้งพลาดของผู้ผลิตนิวซีแลนด์ ซึ่งหมายความว่า ถึงอย่างไร ชาวจีนก็ยังไม่กล้าบริโภคผลิตภัณฑ์นมที่ผลิตในประเทศอยู่ดี แต่อาจแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์นำเข้าจากประเทศอื่นแทนแบรนด์จากแดนกีวี

"เมื่อพิจารณาจากปริมาณโลหะหนักที่มากเกินปกติ มลพิษทางอากาศ และปัญหาอื่นๆ ที่กำลังเลวร้ายลงอยู่ในขณะนี้ คงเป็นเรื่องยากมากสำหรับอุตสาหกรรมนมในประเทศที่จะรับประกันว่าจะไม่มีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นอีก พวกเขาจะสามารถแข่งขันกับแบรนด์จากต่างประเทศได้อย่างไร" บทวิจารณ์ใน International Finance News ระบุ

ขณะที่บทวิจารณ์ใน The Beijing News ระบุว่า บริษัทในประเทศควรเอาอย่างฟอนเทียร่าที่เปิดเผยข้อมูลอย่างทันท่วงที และไม่ปิดบังหรือหลบซ่อนปัญหา

Song Liang ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนมจีน กล่าวกับนสพ. Diyi Caijing Ribao ของเซี่ยงไฮ้ว่า "ยังเป็นหนทางอีกยาวไกลกว่าที่ผลิตภัณฑ์นมในประเทศจะเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้กลับคืนมาได้"

"กรณีนี้อาจเป็นเรื่องดีสำหรับอุตสาหกรรมนมในประเทศ แต่จะว่าไป ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดอาจเป็นผู้ส่งออกจากประเทศอื่นๆที่นอกเหนือไปจากนิวซีแลนด์"

ข้อความจากผู้ใช้เวยโป๋รายหนึ่งที่มีชื่อว่า "Ye Xiaorao" อาจช่วยยืนยันมุมมองดังกล่าวได้ "เมื่อคืน เรารีบเปลี่ยนไปใช้นมผงจากยุโรปสำหรับลูกสาวของเรา พระเจ้า! ช่างเป็นเรื่องทรมานเหลือเกินสำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่"

ด้านชาวเน็ตจีนจำนวนมากก็มีปฏิกริยาตอบโต้บทวิจารณ์ของสื่อจีนที่มีต่อแบรนด์นมต่างชาติ โดยแทนที่จะตำหนิฟอนเทียร่า ตรงกันข้าม หลายคนกลับแสดงความชื่นชมที่บริษัทแสดงความรับผิดชอบด้วยการออกมาเปิดเผยความจริง ทั้งที่เรื่องดังกล่าวจะสร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ของบริษัท โดยความเห็นของบรรดานักท่องเน็ตจีน ก็มีทั้งเหน็บแนมเบาๆ ไปจนถึงต่อว่าอย่างเจ็บแสบ เช่น

"Miss Feng Mum" กล่าวว่า "สื่อจีนกำลังโฆษณาชวนเชื่อเพื่อลดความสำคัญของแบรนด์นมผงต่างชาติ และส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ในประเทศแทน แต่ใครจะเชื่อถือผู้ผลิตในประเทศที่เคยโกหกหลอกลวงประชาชนได้"
"Chauvet_Zhao" ระบุว่า "ผู้ผลิตต่างชาติดำเนินการเรียกคืนสินค้าเพื่อเป็นการป้องกัน แต่บริษัทในประเทศจะโผล่หน้าออกมาก็ต่อเมื่อมีผู้เสียชีวิตจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ของพวกเขา"
"Model Brother II" กล่าวว่า "ผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศมีสิ่งเจือปน เนื่องจากความประมาทเลินเล่อ ซึ่งเทียบได้กับ 'การฆ่าคนตายโดยประมาท' ขณะที่ผู้ผลิตในประเทศตั้งใจเติมเมลามีนในนมผง ซึ่งเทียบได้กับ 'การฆ่าคนตายโดยเจตนา'"
"Liuchen Xingyu" กล่าวว่า การหลบซ่อนปัญหาไม่ใช่เรื่องดี "และที่แย่ที่สุดคือ เมื่อรัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วยปิดบังเรื่องอื้อฉาว"
"Taoziyuan" ระบุว่า "ไม่มีบริษัทไหนในจีนที่มีมโนธรรมพอที่จะเปิดเผยเรื่องแย่ๆของตัวเอง ซึ่งนี่เป็นความแตกต่างระหว่างจีนและนิวซีแลนด์"

ก็ไม่รู้ว่า ทางการจีนคิดถูก หรือ คิดผิด ที่พยายามลดกระแสเห่อแบรนด์นอก และโน้มน้าวให้ผู้บริโภคหันมาใช้สินค้า "เมด อิน ไชน่า" โดยอาศัยความเพลี่ยงพล้ำของคู่แข่งต่างชาติ ทั้งที่จีนควรได้ประโยชน์ไม่มาก ก็น้อย หากใช้โอกาสที่หายากเช่นนี้ได้อย่างถูกที่ ถูกทาง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ