ไฟเซอร์ได้เสนอซื้อกิจการครั้งใหม่ที่ 55 ปอนด์ (92 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อหุ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นจากข้อเสนอก่อนหน้านี้ โดยมูลค่าการเสนอซื้อแอสทราเซเนกาในขั้นสุดท้ายอยู่ที่ราว 6.9 หมื่นล้านปอนด์ (1.16 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ)
แต่แอสทราเซเนการะบุว่าข้อเสนอดังกล่าวมีมูลค่าต่ำมูลค่าของบริษัท ขณะที่ประธานบริษัทแอสทราเซเนกากล่าวว่า “เราได้ปฏิเสธข้อเสนอขั้นสุดท้ายของไฟเซอร์ เนื่องจากข้อเสนอดังกล่าวมีมูลค่าไม่เพียงพอ และจะก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากสำหรับผู้ถือหุ้น ขณะเดียวกันก็จะส่งผลกระทบรุนแรงสำหรับบริษัท พนักงานของเราและภาคธุรกิจเวชภัณฑ์ในอังกฤษ สวีเดนและสหรัฐ"
แอสทราเซเนการะบุว่า ข้อเสนอซื้อกิจการจะต้องมากกว่า 58.85 ปอนด์ต่อหุ้น เพื่อที่บอร์ดของบริษัทจะสามารถนำเสนอแก่กลุ่มผู้ถือหุ้นได้
ข้อเสนอซื้อกิจการดังกล่าวได้จุดปะทุกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มนักการเมืองของอังกฤษ เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการวิจัยด้านเวชภัณฑ์ของแอสทราเซเนกา และทำให้มีการปลดพนักงาน
รายงานระบุว่า ส่วนใหญ่แล้ว ไฟเซอร์จะยื่นข้อเสนอควบรวมกิจการ เนื่องจากเหตุผลในด้านภาษี หากไฟเซอร์ซื้อกิจการแอสทราเซเนกา ไฟเซอร์จะจ่ายภาษีอัตราภาษีนิติบุคคลในอังกฤษที่อัตรา 20% แทนที่จะเป็นอัตรา 35% ที่บังคับใช้อยู่ในสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ แอสทราเซเนกานับเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจเวชภัณฑ์ของอังกฤษ ซึ่งมีมูลค่าตลาด 5.15 หมื่นล้านปอนด์ โดยมีการจ้างงาน 30,000 ตำแหน่ง ซึ่งรวมถึงพนักงานโดยตรง 7,000 ตำแหน่ง ขณะที่การส่งออกของแอสทราเซเนกามีมูลค่าเกือบ 7 พันล้านปอนด์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 2.33% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของอังกฤษ