ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการต่างชาติมองว่า ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่นี้ จะนำมาซึ่งความสามารถในการขยายตัวในระดับภูมิภาค รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา และเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้เข้าร่วมพิธีเปืดธนาคารแห่งนี้ที่กรุงปักกิ่ง ปธน.จีนกล่าวในพิธีเปิด ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าของการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเอเชียว่า "ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์"
กลุ่มผู้มีส่วนร่วมในภูมิภาคจะได้มีความสามารถมากยิ่งขึ้น
ดร.หม่อง หม่อง เตียน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลังเมียนมาร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้ง AIIB ด้วยนั้น มองว่า AIIB เป็นธนาคารที่สามารถพึ่งพาได้ และจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนาระดับภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับอินโดนีเซียนั้นเป็นอีกประเทศในเอเชียที่มีความอ่อนไหวต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ดังนั้น การเปิดตัว AIIB ซึ่งเป็นสถาบันการเงินระดับพหุภาคีที่มีจีนเป็นผู้นำ จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สำคัญ เนื่องจากอินโดนีเซียต้องการที่จะทำให้โครงการสาธารณูปโภคเป็นหนึ่งในแรงผลักดันระลอกใหม่ให้กับเศรษฐกิจประเทศ
อิบราฮิม ยูซุฟ ผู้อำนวยการสภาอินโดนีเซียฝ่ายกิจการโลก กล่าวว่า AIIB จะช่วยสนับสนุนด้านการเงินให้กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ พร้อมชื่นชมกลไกใหม่ระดับพหุภาคีนี้ว่าเป็นทั้งส่วนเสริมและเติมเต็มให้กับกรอบการดูแลด้านการเงินระดับโลกที่มีอยู่เดิม ในขณะที่ประเทศตะวันตกส่วนใหญ่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ธนาคารที่จีนได้นำเสนอแห่งนี้สามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งระดมทุนแห่งใหม่สำหรับอินโดนีเซีย
เบรนแดน เอเฮิร์น ประธานฝ่านการลงทุนของบริษัท เครนแชร์ส ซึ่งเป้นบริษัทกองทุนสัญชาติสหรัฐ กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า AIIB จะช่วยผนึกและส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานที่มุ่งเนนเอเชียเข้ากับความต้องการของประเทศต่างๆ AIIB คงจะไม่เข้ามาท้าทายแต่จะเข้ามาเติมเต็มสถาบันการเงินของตะวันตก ในขณะที่ดีมานด์ด้านการระดมทุนในปัจจุบันนั้นมีมากกว่าซัพพลาย
นอกจากนี้ เบรนแดน ยังคาดการณ์ว่า ประเทศในเอเชียจะมีปริมาณการค้าระหว่างกันมากขึ้น เพราะการระดมทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านทาง AIIB
จังหวะเวลาที่มั่นคงขึ้นสำหรับการพัฒนาของประเทศเกิดใหม่
นายเฉิน กัง นักวิจัยระดับอาวุโสของสถาบันเอเชียตะวันออกแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า AIIB มีหน้าที่ส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยสถาบันการเงินของประเทศมหาอำนาจตะวันตกนั้นมีข้อจำกัดอย่างมากสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากหลายประเทศที่ต้องการเงินทุนนั้นไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ อีกทั้งยังจำกัดการพัฒนาของประเทศในระยะยาว ด้วยเหตุนี้ AIIB จึงเข้ามาเติมเต็มช่องว่างได้ โดยความแข็งแกร่งของจีนจะช่วยส่งเสริมความสามารถด้านการเงินของธนาคาร AIIB ซึ่งจะครอบคลุมถึงทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับในสิ่งที่ต้องการสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ประเทศโดยรอบก็จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย
เอเฮิร์น ยังกล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจโลกจะได้รับอานิสงส์จากโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนาในประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในด้านการค้าระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ การขยายตัวที่ซบเซาของเศรษฐกิจโลกจึงเป็นการนำเสนอโอกาสในการสร้างงานและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อทำให้การค้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะที่นายเฉินกล่าวว่า ในขณะที่ทั่วโลกต่างก็คาดการณ์ว่า จีนจะเข้ามามีความรับผิดชอบในระดับสากลมากยิ่งขึ้นนั้น AIIB เองก็จะทำหน้าที่เป็นเวทีที่สำคัญ เพื่อให้เศรษฐกิจจีนได้มีโอกาสทำหน้าที่ของตนเอง สำนักข่าวซินหัวรายงาน