ผู้เชี่ยวชาญแนะแบงก์ชาติจีนควรผสานการใช้นโยบายการเงินให้ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 25, 2017 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลี่ เจียนจุน นักวิเคราะห์จากแบงก์ ออฟ คุนหลุน กล่าวแสดงความเห็นว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) จำเป็นต้องผสานการใช้นโยบายการเงินระยะสั้นและยาวให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อรักษาเสถียรภาพให้กับสภาพคล่องและกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป

"หลังจากที่ได้ใช้นโยบายเชิงรุกในรูปแบบต่างๆแล้ว แบงก์ชาติจีนควรใช้เครื่องมืออื่นๆให้ดีกว่านี้ในขั้นต่อไป" นายหลี่ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Financial News ในสังกัดธนาคารกลางจีน "การดำเนินงานทางตลาดเงิน (Open Market Operations) หรือ OMO หลายครั้งนั้น เปิดโอกาสให้ธนาคารกลางจีนสามารถรักษาเสถียรภาพให้กับสภาพคล่อง ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายที่ค่อนข้างรอบคอบ และยังควบคุมการเก็งกำไรอันเป็นผลจากเงินทุนระยะสั้นที่มีมากเกินไปด้วย"

ส่วนข้อตกลงซื้อพันธบัตรโดยมีสัญญาขายคืน (reverse repo) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ธนาคารกลางเข้าซื้อหลักทรัพย์จากธนาคารพาณิชย์ด้วยข้อตกลงที่จะขายคืนในอนาคต เป็นการดำเนินการ OMO ที่แบงก์ชาติใช้บ่อยที่สุดในการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าตลาดในระยะเวลาสั้นๆ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนได้อัดฉีดเม็ดเงิน 1.19 ล้านล้านหยวน (ราว 1.70 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อรักษาสภาพคล่องในตลาดก่อนจะถึงเทศกาลตรุษจีน นับเป็นการอัดฉีดเงินรายสัปดาห์ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์

สำหรับเครื่องมือระยะสั้นอื่นๆ เช่นโครงการเงินกู้ระยะสั้น (SLF) และโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) แตกต่างกันในแง่ของหลักประกันและระยะเวลากำหนด

นายหลี่เชื่อว่า ธนาคารกลางจีนควรใช้โครงการปล่อยกู้ต่อ (re-lending) ให้มากกว่านี้ในการรักษาสภาพคล่อง เพื่อส่งเสริมการลงทุนและเศรษฐกิจแท้จริง

เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา แบงก์ชาติจีนได้เสริมสภาพคล่อง 4.15 หมื่นล้านหยวนให้กับธนาคารเฉพาะกิจ (Policy Bank) 3 แห่งของจีน ผ่านการจัดสรรเงินกู้แบบ Pledged Supplementary Lending (PSL) ซึ่งเป็นเครื่องมือระยะยาวที่เริ่มใช้เมื่อปี 2557 โดย ณ ปลายปีที่ผ่านมา จีนมียอดการทำ PSL กว่า 2 ล้านล้านหยวนแล้ว สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ