Spotlight: ตลาดหุ้นสหรัฐปี 61 ทำสถิติย่ำแย่สุดในรอบ 10 ปี ขณะนักวิเคราะห์คาดตลาดผันผวนต่อเนื่องปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 2, 2019 14:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ตลาดหุ้นสหรัฐในปี 2561 ทำสถิติปรับตัวย่ำแย่ที่สุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายคุมเข้มทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมทั้งเศรษฐกิจสหรัฐที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลง ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐมีแนวโน้มอ่อนแอและอาจเผชิญกับความผันผวนต่อไปในปีนี้

แม้ตลาดหุ้นสหรัฐปิดตลาดในแดนบวกเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.ซึ่งเป็นวันทำการวันสุดท้ายของปี 2561 แต่ภาพรวมตลอดปี 2561 นั้น ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลง 5.6%, ดัชนี S&P 500 ทรุดตัวลง 6.2% และดัชนี Nasdaq ร่วงลง 3.9% โดยดัชนีทั้ง 3 ต่างปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551

นายจอห์น โมนาโค เทรดเดอร์ผู้มีประสบการณ์ในตลาดหุ้นมากว่า 35 ปีได้กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า "ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐตลอดปี 2561 ถูกขับเคลื่อนด้วยข่าวต่างๆ และตลาดก็มีปฏิกริยาต่อข่าวต่างๆในปี 2561 มากกว่าปีอื่นๆ"

*นักลงทุนกระหน่ำขายหุ้น ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน

แม้ตลาดหุ้นสหรัฐจะพุ่งทำนิวไฮในช่วงปลายฤดูร้อนจนถึงช่วงต้นฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา แต่ดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนีก็กลับมาพลิกร่วงหนักอย่างต่อเนื่องในช่วงหลังเดือนต.ค. ท่ามกลางความผันผวนจากปัจจัยหลายด้าน

เมื่อพิจารณาไตรมาส 4 ของปี 2561 พบว่า ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงเกือบ 12% ซึ่งเป็นการปรับตัวย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2552 ส่วนดัชนี S&P 500 และดัชนี Nasdaq ดิ่งลง 13.97% และ 17.50% ตามลำดับ ซึ่งเป็นการปรับตัวย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2552

ตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลงอย่างหนักจนเห็นได้ชัดในเดือนธ.ค. เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับนโยบายการเงินที่ผิดพลาดของเฟด รวมถึงการเกิดภาวะชัตดาวน์ของรัฐบาลสหรัฐ และการที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง

ทั้งนี้ เฉพาะเดือนธ.ค. ดัชนีดาวโจนส์, ดัชนี S&P 500 และดัชนี Nasdaq ต่างทรุดตัวลงไม่น้อยกว่า 8.7% โดยดัชนีดาวโจนส์ และดัชนี S&P 500 ทำสถิติปรับตัวในเดือนธ.ค.2561 ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2474 และดิ่งลงเมื่อเทียบรายเดือนมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2552

นายโมนาโคกล่าวว่า ความผันผวนของตลาดเกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนพยายามเทขายหุ้นเพื่อทำกำไรก่อนช่วงปลายปี และคาดว่า ตลาดจะยังคงมีความผันผวนเช่นนี้ไปอีกสักระยะในปี 2562

ความผันผวนในตลาดมีความรุนแรงมากขึ้นหลังจากเฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% ในการประชุมเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 4 ในปี 2561 และถือเป็นครั้งที่ 9 นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ขณะที่เฟดพยายามเดินตามเป้าหมายที่จะปรับดอกเบี้ยให้กลับสู่ภาวะปกติอย่างเป็นทางการ

ทางด้านนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังของสหรัฐได้จัดการประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารธนาคารรายใหญ่ 6 แห่งของสหรัฐเมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อหวังจะกอบกู้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับคืนมา

*เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ตลาดหุ้นสหรัฐได้รับแรงกดดันอย่างหนัก เนื่องจากนักลงทุนต่างวิตกกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดนับตั้งแต่ต้นเดือนต.ค.ปีนี้

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นอุปสรรคต่อบริษัทขนาดเล็กที่ต้องแบกรับภาระจากอัตราส่วนหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ การที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในแต่ละไตรมาสจึงสร้างแรงกดดันต่อภาคธุรกิจอย่างมาก

นายคริส โลว์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบัน FTN Financial กล่าวว่า "ในตลาดหุ้นนั้น เทรดเดอร์ต่างต้องต่อสู้กับความเป็นจริงที่ไม่สวยงามนักในวัฎจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมักนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย"

"หากเฟดยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะตกต่ำก็จะยังคงอยู่ และส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงกันมากขึ้น" นายโลว์กล่าว

ทางด้านนายเบรนเดน อาเฮร์น หัวหน้าฝ่ายการลงทุนของ Krane Funds Advisors ซึ่งเป็นบริษัทด้านการจัดการสินทรัพย์ของสหรัฐ ระบุว่า "ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลงจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย"

หลังจากมีกระแสคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลง เจ้าหน้าที่ของเฟดจึงออกมาประกาศว่าทางธนาคารกลางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีหน้า ซึ่งลดลงจากระดับ 3 ครั้งที่ประกาศไว้เมื่อเดือนกันยายน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า เฟดและนักลงทุนมีมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาพรวมในตลาดหุ้น

*ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ความวิตกกังวลที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะปรับตัวลงและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงในช่วงปลายปี 2561 นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดอย่างมาก

นักลงทุนต่างระมัดระวังการลงทุน โดยเชื่อว่าโลกจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในอีกไม่ช้า นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่หลายแห่งที่ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ก็ได้สร้างความวิตกกังวลว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มทรุดตัวลงเร็วกว่าที่พวกเขาคาดการณ์ไว้

แบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ โกลบอล รีเสิร์ช คาดการณ์เมื่อช่วงต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะชะลอลงในปี 2562 แต่จะเป็นการชะลอตัวลงเพียงเล็กน้อย ไม่ใช่ "การเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย"

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง ด้วยเป้าหมายที่จะจำกัดการขาดทุน มากกว่าที่จะหวังผลในการทำกำไร

รายงานของแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ โกลบอล รีเสิร์ช ยังระบุอีกด้วยว่า ภาวะหมีของตลาดหุ้นซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2561 จะยังคงอยู่ต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง โดยคาดว่าราคาสินทรัพย์จะดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เมื่อกระแสคาดการณ์เรื่องอัตราดอกเบี้ยมาถึงจุดอิ่มตัว ขณะเดียวกันคาดว่า ผลประกอบการของบริษัทที่จดทะเบียนในดัชนี S&P500 จะทำสถิติสูงสุดในปี 2562 ซึ่งจะสร้างโอกาสอันดีให้กับนักลงทุนที่ต้องการเช้าช้อนซื้อเพื่อทำกำไรท่ามกลางตลาดที่ผันผวนเช่นนี้

แคนเดซ บราวนิ่ง ประธานของ BofA เมอร์ริล ลินช์ โกลบอล รีเสิร์ช กล่าวว่า "ในมุมมองของเรานั้น การที่ตลาดปรับตัวลงไม่ได้เป็นการสะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอ แต่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงที่มีลักษณะเฉพาะตัว (Idiosyncratic Risk) ที่ทำให้นักลงทุนต้องมีความรอบคอบมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักลงทุนที่มีพื้นฐานการลงทุนที่ดีในตลาดหุ้น"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ