Spotlight : ทนายชื่อดังของออสเตรียเผยการสั่งแบนหัวเว่ยก่อให้เกิดสุญญากาศที่ไม่สามารถเติมเต็มได้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 25, 2019 14:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทนายชื่อดังชาวออสเตรียเผยการสั่งแบนหัวเว่ยจะสร้างสุญญากาศที่ไม่มีใครสามารถเติมเต็มได้อย่างทันท่วงที และอาจจะทำให้การใช้งานเครือข่าย 5G ทั่วยุโรปเกิดความชะงักงัน

นายจอร์จ แซนเจอร์ นักธุรกิจและทนายที่ต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายขวา ระบุว่า หากไม่มีหัวเว่ย ยุโรปอาจกลับคืนสู่สภาพเดิมของเทคโนโลยี 5G ทั้งในแง่ของเวลาและต้นทุน ทั้งที่เทคโนโลยี 5G เป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญ

"ไม่มีใครมีหลักฐานอันเป็นที่ประจักษ์และพิสูจน์ได้ว่าบริษัททำผิดอะไร ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาว่าเป็นลัทธิคุ้มครองการค้าที่อำพรางอยู่ภายใต้การสั่งห้ามเพื่อความมั่นคงแห่งชาติหรือไม่" แซงเจอร์ ประธานสมาคมธุรกิจจีน-ออสเตรเลีย กล่าวในงานประชุมที่มีชื่อว่า "Hauwei -- Inside & Outside"
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สหรัฐได้เรียกร้องให้ชาติพันธมิตรกีดกันหัวเว่ยออกจากการพัฒนาเครือข่าย 5G ของประเทศ โดยอ้างว่าเทคโนโลยีของบริษัทจะส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศและผู้ใช้งาน ทว่าผู้บริหารของหัวเว่ยปฎิเสธข้อกล่าวหาที่สหรัฐเป็นผู้วางแผน พร้อมอ้างถึงข้อมูลเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ยอดเยี่ยมของบริษัท ตลอดจนความเต็มใจที่จะยอมรับการกำกับดูแลและข้อแนะนำจากลูกค้าหรือรัฐบาลต่างประเทศ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานใดๆที่สนับสนุนข้อกล่าวหาดังกล่าว

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา นายเคียแรน มาร์ติน ซีอีโอของศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติอังกฤษ และหนึ่งในหัวหน้าหน่วยข่าวกรองอาวุโสของประเทศระบุว่า สหราชอาณาจักรสามารถจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของการใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมของบริษัทจีนที่มาพัฒนาเครือข่าย 5G แห่งอนาคตได้ และยังไม่พบหลักฐานของความประสงค์ร้ายจากหัวเว่ย

เนื่องจากอังกฤษเป็นสมาชิกของกลุ่มพันธมิตรเพื่อการสอดแนม 5 ชาติ หรือที่เรียกกันว่า "Five Eyes" ซึ่งประกอบด้วย อังกฤษ แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา การตัดสินใจเกี่ยวกับหัวเว่ยจึงจะส่งผลต่อวิธีปฎิบัติของประเทศต่างๆที่มีต่อบริษัทของจีน

สื่อเยอรมันรายงานว่า คณะรัฐมนตรีเยอรมนีได้จัดการประชุมเพื่อทบทวนรายงานของหัวเว่ยว่าด้วยการบริการด้านความปลอดภัย และไม่พบหลักฐานใดๆที้เกี่ยวกับการสอดแนม

เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เข้ามามีบทบาทในประเด็นดังกล่าวมากยิ่งขึ้น เธอปฏิเสธที่จะบอกว่าเยอรมนีจะสั่งห้ามหัวเว่ย แต่ระบุว่าบริษัทจะต้องให้การรับรองด้านความปลอดภัยของข้อมูล

"เราไม่เคยได้รับการร้องขอจากรัฐบาลหรือหน่วยงานใดบนโลก.. ให้ทำสิ่งใดก็ตามที่อาจเป็นอันตรายหรือทำลายความปลอดภัยของเครือข่ายลูกค้า" นายโจ เคลลี รองประธานฝ่ายสื่อสารองค์กรของหัวเว่ย "ถ้าหากเราถูกขอร้องให้ทำเช่นนั้น เราจะปฏิเสธ"

เนื่องจากผู้ให้บริการส่วนใหญ่ในยุโรปใช้อุปกรณ์เครือข่าย 4G ของหัวเว่ยเดิมอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น การพัฒนาเครือข่ายด้วยอุปกรณ์ใหม่จากบริษัทคู่แข่งจะส่งผลให้เกิดความท้าทายและค่าใช้จ่ายด้านการปฏิบัติการที่สูงขึ้น นักวิเคราะห์ระบุ

ในขณะเดียวกัน ตัวเลขจากคานาลิส ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์การตลาดระบุว่า หัวเว่ยมีส่วนแบ่งการตลาดสมาร์ทโฟนในยุโรปโดยรวมที่ 23.6% และมีการจัดส่งจำนวน 13.3 ล้านชิ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ