Spotlight: ผู้เชี่ยวชาญแนะบริษัทการเงินอังกฤษเตรียมรับมือผลกระทบจาก Brexit แบบไร้ข้อตกลง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 7, 2019 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ขณะที่อังกฤษมีกำหนดจะต้องออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในวันที่ 29 มี.ค.นี้ บรรดาบริษัทด้านการเงินของอังกฤษก็ได้เตรียมพร้อมรับมือสำหรับกรณี Brexit แบบไม่มีการทำข้อตกลง ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า โฆษกของ UK Finance ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทมากกว่า 250 แห่งในอุตสาหกรรมการเงินและการธนาคารของสหราชอาณาจักร ระบุในแถลงการณ์ว่า บริษัทสมาชิกกำลังวางแผนที่จะลดผลกระทบของ Brexit แบบไร้ข้อตกลง

"เวลากำลังจะหมดแล้วในการหลีกเลี่ยงสถานการณ์ Brexit แบบไม่มีข้อตกลงซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร บริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมการเงินได้วางแผนรองรับภาวะฉุกเฉินเพื่อลดผลกระทบสำหรับลูกค้าของพวกเขาในสถานการณ์ดังกล่าว แต่ความเสี่ยงที่สำคัญก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งรวมถึงการถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคล และการดำเนินการของสัญญาข้ามพรมแดน" โฆษกของ UK Finance กล่าว

  • Brexit จะส่งผลกระทบต่อภาคการเงินของสหราชอาณาจักร

บริษัทด้านการเงินจำนวนมากในสหราชอาณาจักรได้เตรียมพร้อมที่จะยังคงอยู่ในตลาดเดี่ยวของยุโรปต่อไป โดยจะย้ายสำนักงานของพวกเขาออกจากสหราชอาณาจักร หรือเลือกเมืองในประเทศอื่นๆ มากกว่าเมืองที่อยู่ในสหราชอาณาจักร เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการดำเนินงานหลักของพวกเขาในทวีปยุโรป

MarketAxess ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัที่ให้บริการซื้อขายหุ้นกู้รายใหญ่ที่สุดในโลกระบุว่า บริษัทได้เลือกกรุงอัมสเตอร์ดัมมากกว่ากรุงลอนดอนให้เป็นฐานการดำเนินงานหลักสำหรับสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับ Brexit ซึ่งก็เท่ากับเป็นการปิดโอกาสในการจ้างงานหลายร้อยตำแหน่งสำหรับภาคการเงินของสหราชอาณาจักร

นอกจากนี้ ธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริกา ระบุว่า ธนาคารได้เลือกกรุงดับลินเป็นฐานการดำเนินงานหลักในด้านวานิชธนกิจและตลาดใน EU ขณะที่ซิตี้กรุ๊ป มอร์แกน สแตนลีย์ และธนาคารดอยซ์ แบงก์ เลือกนครแฟรงค์เฟิร์ตของเยอรมนีเป็นฐานการดำเนินงานหลัก

ในการเตรียมพร้อมสำหรับ Brexit นั้น บริษัทยูเค พีแอนด์ไอ คลับ ซึ่งเป็นประกันภัยเรือของอังกฤษได้เลือกที่จะจัดตั้งบริษัทในเครือในเมืองรอตเทอร์ดาม ซึ่งเป็นเมืองท่าของเนเธอร์แลนด์ เพื่อที่จะยังคงอยู่ในตลาดเดี่ยวของยุโรปต่อไป

ส่วนบริษัทที่ปรึกษา EY เปิดเผยรายเมื่อเดือนม.ค.บ่งชี้ว่า บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินได้ใช้เงินทุนเกือบ 8 แสนล้านปอนด์ (ประมาณ 1.054 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในการโยกย้ายพนักงาน การดำเนินงาน และเงินทุนของลูกค้าไปยังยุโรปนับตั้งแต่มีการลงประชามติเรื่อง Brexit

  • การเรียกร้องให้หลีกเลี่ยง Brexit แบบไร้ข้อตกลง

บริษัทส่วนใหญ่เปิดเผยว่า พวกเขากำลังสนับสนุนข้อเสนอเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้อังกฤษออกจาก EU แบบไม่มีข้อตกลง โดยระบุว่า การไม่มีข้อตกลงใดๆ นั้น จะเปลี่ยนแปลงแนวทางการปฏิบัติงานของทั้งภาคการเงินและภาคธนาคาร

นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) กล่าวว่า Brexit แบบที่ไม่มีข้อตกลงและไม่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของอังกฤษที่เลวร้ายกว่าที่คาดไว้ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ไอเอชเอส มาร์กิตและสถาบัน Chartered Institute of Procurement and Supply (CIPS) ได้จัดทำรายงานเมื่อต้นปี 2562 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นของธุรกิจในสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับปีต่อไปนั้น ได้ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองได้ทำให้เกิดความล่าช้าในการใช้จ่ายทางธุรกิจส่วนใหญ่ในภาคบริการของสหราชอาณาจักร ซึ่งรวมถึง บริษัทด้านการเงิน โรงแรม ร้านค้าปลีกและร้านอาหาร

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ยังคงมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับ Brexit ซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับว่า นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ของอังกฤษจะสามารถผลักดันข้อตกลงผ่านสภาผู้แทนราษฎรก่อนหมดเวลาเจรจาข้อตกลงการค้ากับ EU ได้หรือไม่

ทั้งนี้ ธุรกิจด้านการเงินส่วนใหญ่ได้รับคำแนะนำให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ขณะที่ภาวะชะงักงันทางการเมืองในรัฐบาลอังกฤษยังคงดำเนินต่อไป

  • ความพยายามที่จะบรรเทาภาวะชะงักงัน

UK Finance ได้จัดทำเอกสารออนไลน์โดยละเอียดเพื่อแนะนำธุรกิจต่างๆ เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมรับมือกับ Brexit

เอกสารดังกล่าวที่เขียนโดยนายสตีเฟน เพ็กก์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายการเงินพาณิชย์ของ UK Finance บ่งชี้ถึง การบรรเทาภาวะชะงักงันของภาคธุรกิจในช่วง Brexit

เอกสารดังกล่าวบ่งชี้ถึงคำแนะนำทีละขั้นตอนซึ่งสนับสนุนให้ธุรกิจต่างๆ ใช้กระบวนการ "TALK" โดยคู่มือคำแนะนำนี้ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบหลัก 4 ประการที่ธุรกิจต่างๆ ควรพิจารณาเมื่อเตรียมการสำหรับ Brexit ซึ่งได้แก่ T (Take) คือการใช้เวลาในการพิจารณาว่าลูกค้าและซัพพลายเออร์อาจจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น A (Ask) คือ สอบถามผู้ให้บริการธนาคารและการเงิน ลูกค้าและซัพพลายเออร์เสียก่อนหากคุณอาจจะต้องการเงินทุนเพิ่มเติม L (Look into) คือ พิจารณาตัวเลือกทางการเงินอื่นๆ และ K (Know) คือ รู้ว่าจะไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ใดเพื่อช่วยเหลือธุรกิจของคุณ

นอกจากนี้ UK Finance ยังเรียกร้องให้บรรดานักการเมืองมีความสมานฉันท์กันก่อน Brexit ด้วย

"จำเป็นอย่างยิ่งที่นักการเมืองทุกฝ่ายในสภาจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อตกลงกันล่วงหน้า และให้ความมั่นใจที่จำเป็นอย่างมากต่อประชาชนและภาคธุรกิจ" โฆษกของ UK Finance กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ