World Today: สรุปประเด็นน่าติดตามประจำวันที่ 3 เมษายน 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 3, 2019 09:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบ 79.29 จุด หรือ 0.30% เมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนชะลอการซื้อขายหลังจากดาวโจนส์พุ่งขึ้นติดต่อกัน 3 วันทำการก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงอย่างหนักของหุ้นวอลกรีนส์ บู้ทส์ อัลลิอันซ์ ซึ่งเป็นเครือข่ายร้านขายยารายใหญ่ของสหรัฐ หลังจากบริษัทปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการในปีนี้

-- นักลงทุนจับตาการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน โดยนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน จะนำคณะผู้แทนเจรจาการค้าเดินทางไปยังสหรัฐเพื่อเจรจาการค้ารอบใหม่ในวันนี้ หลังจากที่นายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ และนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ ได้เจรจาการค้ากับจีนที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 28-29 มี.ค.ที่ผ่านมา

-- ตลาดการเงินยังคงติดตามสถานการณ์ที่อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ขณะที่นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เปิดเผยหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีนานกว่า 7 ชั่วโมงเมื่อวานนี้ว่า ตนจะเรียกร้องให้สหภาพยุโรป (EU) ให้เวลาแก่อังกฤษมากขึ้นด้วยการขยายกำหนดเส้นตายการแยกตัวจาก EU ให้เกินกว่าวันที่ 12 เม.ย. เพื่อให้รัฐบาลมีเวลาในการเจรจากับพรรคแรงงานเพื่อผ่าทางตันกรณี Brexit

ทั้งนี้ นางเมย์คาดหวังว่า รัฐสภาอังกฤษจะลงมติรับรองข้อตกลง Brexit ภายในวันที่ 22 พ.ค. พร้อมกับเสริมว่าการแยกตัวจาก EU โดยมีข้อตกลงถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

-- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีน ซึ่งมาร์กิตจัดทำร่วมกับไฉซิน อยู่ที่ระดับ 54.4 ในเดือนมี.ค. พุ่งขึ้นจากระดับ 51.1 ในเดือนก.พ. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่ระดับ 52.3

นอกจากนี้ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนมี.ค.ยังขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 9 เดือน

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่เคลื่อนไหวเหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคบริการของจีนมีการขยายตัว ขณะที่ดัชนีที่เคลื่อนไหวต่ำกว่า 50 บ่งชี้ถึงภาวะหดตัวในภาคบริการ

-- สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย (ABS) รายงานในวันนี้ว่า ยอดเกินดุลการค้าของออสเตรเลียพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.801 พันล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ. จากระดับ 4.351 พันล้านดอลลาร์ในเดือนม.ค. หลังจากยอดส่งออกทรงตัว ในขณะที่ยอดนำเข้าลดลง 1%

นอกจากนี้ ABS รายงานว่า ยอดค้าปลีกเดือนก.พ.ปรับตัวขึ้น 0.8% ซึ่งเป็นการขยายตัวรายเดือนที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2560 โดยข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ยอดค้าปลีกของออสเตรเลียเริ่มฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่หดตัวลง 0.4% ในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว และขยับขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา

-- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ลดลง 1.6% ในเดือนก.พ. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนม.ค.

การร่วงลงของยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนในเดือนก.พ. ได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวของคำสั่งซื้อเครื่องบิน

ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ ลดลง 0.1% ในเดือนก.พ. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะทรงตัว หลังจากเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนม.ค.

เมื่อเทียบรายปี ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐานดีดตัวขึ้น 2.6% ในเดือนก.พ.

-- นายมิเชล บาร์นิเยร์ ตัวแทนเจรจาฝ่ายสหภาพยุโรป (EU) ในประเด็นการแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU (Brexit) กล่าวว่า มีแนวโน้มมากขึ้นที่อังกฤษจะแยกตัวออกจาก EU โดยไม่มีการทำข้อตกลง หลังจากที่เมื่อรัฐสภาอังกฤษได้ลงมติปฏิเสธทางเลือกอื่นๆที่จะมาแทนที่ข้อตกลง Brexit ของรัฐบาล

อย่างไรก็ดี นายบาร์นิเยร์กล่าวว่า "เรายังคงมีความหวังที่จะหลีกเลี่ยงกรณี Brexit ที่ไร้ข้อตกลง ด้วยการทำงานอย่างหนักก่อนจัดการประชุมสุดยอดในวันที่ 10 เม.ย."

-- นายวอลดิส ดอมบรอฟสกี ประธานคณะกรรมาธิการฝ่ายบริการการเงินของสหภาพยุโรป (EU) ได้ออกมาเตือนว่า หากอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยไม่มีการทำข้อตกลง จะทำให้เกิดภาวะชะงักงันต่อระบบเศรษฐกิจ และกระทบต่อสภาพคล่องในตลาดการเงิน

"เราจะไม่สามารถขจัดผลกระทบทั้งหมดทางเศรษฐกิจ" นายดอมบรอฟสกีกล่าว พร้อมกับระบุว่า ขณะนี้มีความเสี่ยงอย่างมากที่อังกฤษจะแยกตัวออกจาก EU ในวันที่ 12 เม.ย.โดยไม่มีการทำข้อตกลง

นอกจากนี้ นายดอมบรอฟสกียังเตือนถึงผลกระทบทางด้านการเงินและเศรษฐกิจที่จะมีต่อ EU และอังกฤษจากกรณี Brexit ที่ไร้ข้อตกลง โดยจะก่อให้เกิดภาวะชะงักงัน และกระทบต่อสภาพคล่องในตลาด

-- นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกได้ชะลอตัวลง ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และภาวะตึงตัวทางการเงิน แต่การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ จะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง

นางลาการ์ดระบุว่า เศรษฐกิจโลกปรับตัวไร้เสถียรภาพ หลังจากมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจเผชิญความเสี่ยง และมีความเปราะบางต่อความตื่นตระหนกในตลาดการเงิน, การค้าโลก และปัจจัยการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)

อย่างไรก็ดี IMF ไม่คาดว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะใกล้ และการที่เฟดมีความอดทนต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะช่วยให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลัง

-- Verdi ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานของเยอรมนี เรียกร้องให้พนักงานในภาคธนาคารทั่วประเทศพากันผละงานประท้วงในสัปดาห์นี้ หลังจากที่การเจรจาเรื่องค่าจ้างในภาคธนาคารประสบภาวะชะงักงัน

Verdi ระบุว่า ทางสหภาพเป็นตัวแทนพนักงานธนาคารจำนวน 200,000 รายทั่วเยอรมนีทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยทางสหภาพได้เรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างจำนวน 6%

ทั้งนี้ สหภาพเรียกร้องให้พนักงานธนาคารผละงานในวันพรุ่งนี้ถึงวันศุกร์ ซึ่งจะกระทบต่อธนาคารหลายแห่ง ซึ่งรวมถึง ดอยซ์แบงก์ และคอมเมิร์ซแบงก์ ขณะที่สหภาพขู่ว่าจะมีการผละงานเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า

-- นายมาร์ค แซนดี หัวหน้านักวิเคราะห์ของมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐบ่งชี้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้

คำกล่าวของนายแซนดีมีขึ้น หลังจากที่นายแลร์รี่ คุดโลว์ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว กล่าวว่า เฟดควรจะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% โดยทันที

นายแซนดีกล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง โดยอัตราการว่างงานแตะระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี ขณะที่การขยายตัวของค่าจ้างอยู่ในระดับสูง และเงินเฟ้อยังคงอยู่ใกล้กับเป้าหมาย 2% ของเฟด ส่วนตลาดหุ้นวอลล์สตรีทก็มีแนวโน้มพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งหนึ่ง

-- ไอเอชเอส มาร์กิต/ซีไอพีเอส เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการก่อสร้างของสหราชอาณาจักร ขยับขึ้นสู่ระดับ 49.7 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 49.5 ในเดือนก.พ.

อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า กิจกรรมในภาคการก่อสร้างของสหราชอาณาจักรอยู่ในภาวะหดตัว 2 เดือนติดต่อกัน ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนส.ค.2559

การร่วงลงของดัชนี PMI ภาคการก่อสร้างได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)

-- องค์การการค้าโลก (WTO) เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า ปริมาณการค้าโลกหดตัวลง 0.3% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว และมีแนวโน้มขยายตัวเพียง 2.6% ในปีนี้ ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 3.7% และต่ำกว่าระดับ 3.0% ในปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้ WTO คาดการณ์ในเดือนก.ย.ปีที่แล้วว่า ปริมาณการค้าโลกจะมีการขยายตัว 3.9% ในปีที่แล้ว หลังจากที่พุ่งขึ้น 4.6% ในปี 2560

WTO ระบุว่า การค้าโลกได้ถูกกดดันจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน, การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ, ความผันผวนในตลาดการเงิน และภาวะตึงตัวทางการเงินในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว

WTO ยังเตือนว่า ปริมาณการค้าโลกจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่านี้ หากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศเพิ่มการเรียกเก็บภาษีต่อรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศในปีนี้

นอกจากนี้ WTO ยังคาดการณ์ว่า ความไม่แน่นอนจากปัจจัยการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) จะทำให้การขยายตัวตัวของปริมาณการค้าโลกดิ่งลงสู่ระดับ 1.3% ในปีนี้

-- นายมาร์ค แซนดี หัวหน้านักวิเคราะห์ของมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มอย่างมากที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย หากสหรัฐและจีนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าภายในเวลา 3 เดือน

"ขณะนี้ความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจทั่วโลกอยู่ในภาวะเปราะบางอย่างมาก โดยแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่สิ้นสุดวิกฤตการเงินเมื่อ 10 ปีก่อน" นายแซนดีกล่าว

"หากสหรัฐและจีนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้า สิ่งนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และทำให้บริษัทต่างๆลดการจ้างงาน ซึ่งจะทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ" เขากล่าว.

-- ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่มีกำหนดการเปิดเผยวันนี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนมี.ค. ของฝรั่งเศส, เยอรมนี, อียู, อังกฤษ และสหรัฐจากมาร์กิต ยอดค้าปลีกเดือนก.พ.ของอียู รวมถึงตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมี.ค.ของสหรัฐจาก ADP ดัชนีภาคบริการเดือนมี.ค.ของสหรัฐจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA)

ส่วนในวันพรุ่งนี้ เกาหลีใต้เตรียมเปิดเผยดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนก.พ. เยอรมนีเตรียมเปิดเผยยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.พ. และสหรัฐเตรียมเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ