Spotlight: เฟดมีมติคงดอกเบี้ยตามคาด ไม่กังวลเงินเฟ้ออ่อนแอ,เมินเสียงเรียกร้องให้ลดดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 2, 2019 13:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวานนี้ และปฏิเสธความวิตกเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อที่อ่อนแอ ขณะเดียวกันเฟดไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแนวทางในการใช้ความอดทนต่อการปรับอัตราดอกเบี้ย

ในแถลงการณ์หลังการประชุมนโยบาย 2 วันนั้น เฟดระบุว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ได้มีมติคงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ในช่วง 2.25-2.5%

เฟดระบุย้ำว่า จะอดทนต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในอนาคต เนื่องจากมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเงินโลก และมีแรงกดดันเงินเฟ้อที่ระดับต่ำ

นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดระบุในการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ว่า "เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งทำให้เราสามารถอดทน เราคาดว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้น และเราต้องการให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2%" โดยนายพาวเวลเชื่อว่า ความอ่อนแอในช่วงที่ผ่านมาของแรงกดดันด้านราคา มีแนวโน้มเป็นเพียงชั่วคราว

"เราคิดว่า นโยบายของเรามีความเหมาะสมในขณะนี้ และเราไม่ต้องการเห็นการเคลื่อนไหวที่แข็งแกร่งไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง" เขากล่าว

การประชุมของเฟดมีขึ้น หลังจากกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวในอัตรา 3.2% เมื่อเทียบรายปีในไตรมาสแรก ซึ่งส่วนใหญ่ได้แรงหนุนจากการส่งออก และการลงทุนด้านสินค้าคงคลังของภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง

การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีเกินคาดในไตรมาสแรกได้คลายความวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่เฟดบางรายมีเหตุผลที่เชื่อว่า เฟดจะยังคงมีแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

แต่นักเศรษฐศาสตร์บางรายระบุว่า ข้อมูลการขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้นระบุถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐมากเกินไป และภาวะเงินเฟ้อที่อ่อนแออย่างต่อเนื่องได้เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ผู้กำหนดนโยบายทำการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย

หากไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่มีความผันผวน ดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งเป็นตัววัดเงินเฟ้อที่เฟดนิยมใช้นั้น เพิ่มขึ้น 1.3% ในไตรมาสแรก ซึ่งยังคงต่ำกว่าเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%

นายพาวเวลกล่าวว่า "หากเราเห็นเงินเฟ้อปรับตัวอยู่ที่ระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสร้างความวิตกให้กับคณะกรรมการ เราก็จะพิจารณาการกำหนดนโยบาย" แต่เขาปฏิเสธที่จะระบุว่า เฟดจะพิจารณาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงหรือไม่

ไดแอน สวองค์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของแกรนท์ ธอร์นตัน แอลแอลพี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า "นายพาวเวลพยายามที่จะสกัดกั้นการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าที่เกี่ยวพันกับเงินเฟ้อ โดยเขาย้ำว่า เฟดยังคงเชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อที่ระดับต่ำเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว"

สวองค์กล่าวเสริมว่า "เฟดกำลังเดินอยู่บนเชือกที่ขึงตึง โดยต้องปรับสมดุลอัตราเงินเฟ้อที่ระดับต่ำในปัจจุบันต่อความเสี่ยงของการทำให้เกิดภาวะฟองสบู่สินทรัพย์เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เฟดต้องชะลอการปรับอัตราดอกเบี้ยในปีนี้"

บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่า แม้ตลาดคาดการณ์เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่เฟดก็ไม่มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเร็วๆ นี้ เนื่องจากจะทำให้ดูเหมือนว่า เฟดกำลังอ่อนข้อต่อแรงกดดันทางการเมือง

"เจ้าหน้าที่เฟดมีแนวโน้มที่จะวิตกเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องการเมืองหรือสร้างความวิตกให้กับตลาด ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดพลาดต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่ระดับต่ำ เพราะความวิตกอย่างรุนแรงเกี่ยวกับแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ" นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งนำโดยนายแจน แฮทเซียส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสหรัฐระบุ

ด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ ได้วิพากษ์วิจารณ์หลายครั้งต่อการที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเรียกร้องให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ปธน.ทรัมป์ได้ทวีตเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า "เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างไม่หยุดยั้ง แม้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต่ำมาก และได้ทำการคุมเข้มเชิงปริมาณครั้งใหญ่มาก"

"เศรษฐกิจของเรามีแนวโน้มที่จะพุ่งขึ้นเหมือนจรวด หากเราปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง แค่หนึ่งจุด และผ่อนคลายเชิงปริมาณลงบ้าง" ปธน.ทรัมป์กล่าวเสริม

ในการตอบคำถามเกี่ยวกับแรงกดดันทางการเมืองนั้น นายพาวเวลยืนยันในวันพุธว่า จะปกป้องความเป็นอิสระของเฟด

นายพาวเวลกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "เราไม่ใช่สถาบันการเมือง และเราก็จะไม่คิดถึงการพิจารณาทางการเมืองในระยะสั้น เราจะไม่หารือเกี่ยวกับการเมือง และเราจะไม่พิจารณาเรื่องการเมืองในการตัดสินของเราในทางหนึ่งทางใด"

"นั่นคือสิ่งที่สำคัญสำหรับเฟดในการรักษาความเป็นอิสระจากแรงกดดันทางการเมืองซึ่งมีอยู่ตลอดในกรุงวอชิงตัน" สวองค์ตั้งข้อสังเกต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ