World Today: สรุปประเด็นน่าติดตามประจำวันที่ 29 พฤษภาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 29, 2019 09:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลง ร่วงลง 237.92 จุด หรือ 0.93% เมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณว่า สหรัฐยังไม่พร้อมที่จะทำข้อตกลงการค้ากับจีน โดยความกังวลในเรื่องดังกล่าวได้ฉุดหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีความอ่อนไหวต่อประเด็นการค้าระหว่างประเทศ

ปธน.ทรัมป์กล่าวในระหว่างการจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนร่วมกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า สหรัฐยังไม่พร้อมที่จะทำข้อตกลงการค้ากับจีน พร้อมกับส่งสัญญาณว่า ภาษีสินค้านำเข้าที่สหรัฐเรียกเก็บจากจีนนั้น อาจจะเพิ่มขึ้นอีก

-- ราคาหุ้นเฟดเอ็กซ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการจัดส่งบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ของสหรัฐ ปรับตัวลงในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ หลังจากมีรายงานว่าบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ของจีน กำลังทบทวนความสัมพันธ์เฟดเอ็กซ์ หลังจากที่เฟดเอ็กซ์ได้ส่งพัสดุ 2 ชิ้นที่จ่าหน้าถึงหัวเว่ยในเอเชียไปยังสหรัฐ และพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงเส้นทางการจัดส่งพัสดุอีก 2 ชิ้นของหัวเว่ย โดยที่ทางเฟดเอ็กซ์ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับความผิดพลาดดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เฟดเอ็กซ์ได้ออกมากล่าวขอโทษหัวเว่ยในเวลาต่อมา พร้อมระบุว่า การจัดส่งพัสดุผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้ เมื่อมีการจัดส่งพัสดุ 15 ล้านชิ้นต่อวัน และย้ำว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องของความผิดพลาดในการขนส่ง และไม่มีบุคคลที่สามภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง

-- กระทรวงการคลังสหรัฐได้เปิดเผยรายงาน "นโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ (International Economic and Exchange Rate Policies) รอบครึ่งปี ต่อสภาคองเกรสเมื่อวานนี้ โดยระบุว่า ไม่มีประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐประเทศใดที่มีพฤติกรรมบิดเบือนค่าเงินในช่วง 4 ไตรมาสซึ่งสิ้นสุด ณ เดือนธ.ค. 2561

ทั้งนี้ นับเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้ระบุว่าจีนเป็นประเทศที่ปั่นค่าเงิน แต่ทางกระทรวงฯได้เรียกร้องให้จีนใช้มาตรการทางการเงินเพื่อหลีกเลี่ยง "ภาวะค่าเงินอ่อนตัวระยะยาว" โดยระบุว่า การปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการกำหนดนโยบายเชิงโครงสร้างนั้น จะช่วยหนุนให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า จีน เยอรมนี ไอร์แลนด์ อิตาลี สเปน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ได้ถูกรวมอยู่ใน "รายชื่อประเทศที่ถูกจับตามอง" ซึ่งหมายความว่า ทางการสหรัฐจะจับตานโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศเหล่านี้อย่างใกล้ชิด

-- นายมัตเตโอ ซัลวินี รองนายกรัฐมนตรีอิตาลีระบุว่า รัฐบาลอิตาลีอาจถูกสหภาพยุโรป (EU) สั่งปรับเป็นเงินถึง 3 พันล้านยูโร ฐานละเมิดกฎเกณฑ์ด้านการคลังของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีอิตาลียังได้ใช้โอกาสเดียวกันนี้ในการวิจารณ์ว่า กฎการคลังของ EU นั้นล้าสมัยและไม่เป็นธรรม และตนจะต่อสู้จนถึงที่สุด

ถ้อยแถลงดังกล่าวได้สร้างความกังวลจนกระทบต่อการซื้อขายทั้งในตลาดเงินและตลาดหุ้นทั่วโลก

อย่างไรก็ดี ทาง EU ยังไม่ได้ออกมายืนยันในเรื่องนี้ และหากจะมีการสั่งปรับจริงต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีการคลังของชาติสมาชิก EU ก่อน

-- หู สีจิน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์สของรัฐบาลจีน เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ @HuXijin_GT ว่า ขณะนี้รัฐบาลจีนกำลังพิจารณาที่จะใช้มาตรการจำกัดการส่งออกแร่หายากไปสหรัฐ และอาจใช้มาตรการตอบโต้อื่น ๆ ในอนาคตด้วย ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลว่า จีนอาจใช้แร่หายากเป็นอาวุธในการเจรจาการค้ากับสหรัฐ

ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้น หลังเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้เดินทางเยือนบริษัท JL MAG Rare-Earth ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานแปรรูปแร่หายากแห่งหนึ่งในมณฑลเจียงซี เพื่อเรียนรู้กระบวนการผลิตและการบริหารกิจการของบริษัทดังกล่าว เช่นเดียวกับความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมแร่หายาก โดยเป็นการเดินทางเยือนในประเทศครั้งแรกของปธน.สี นับตั้งแต่ที่การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนได้ยกระดับขึ้น

-- นายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เปิดเผยว่า สหภาพยุโรป (EU) ไม่มีความตั้งใจที่จะเจรจาข้อตกลงในการถอดอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit อีกรอบ เพราะได้บรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลอังกฤษไปแล้ว แม้ข้อตกลงดังกล่าวไม่ผ่านการรับรองจากรัฐสภาอังกฤษมาหลายครั้งจนทำให้นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ต้องประกาศลาออกเมื่อไม่นานมานี้

ถ้อยแถลงดังกล่าวได้สร้างความผิดหวังต่อนักการเมืองอังกฤษ ซึ่งต่างแสดงความเชื่อมั่นว่า สหภาพยุโรปจะกลับมาเจรจาข้อตกลงดังกล่าวเสียใหม่

-- คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป (EU) รายงานว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซนอยู่ที่ระดับ -6.5 ในเดือนพ.ค. เท่ากับตัวเลขประมาณการเบื้องต้น แต่ปรับตัวขึ้นจากระดับ -7.3 ในเดือนเม.ย.

ขณะที่ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจยูโรโซน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 105.1 ในเดือนพ.ค. จากระดับ 103.9 ในเดือนก่อนหน้า และดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลงแตะ 103.8

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจยูโรโซนฟื้นตัวขึ้นอย่างเหนือความคาดหมาย หลังจากที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาเกือบตลอดหนึ่งปีนั้น เป็นเพราะความเชื่อมั่นที่ปรับตัวขึ้นทั้งในภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคบริการ

-- ผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 134.1 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 129.2 ของเดือนเม.ย.

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการจ้างงานซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายมากขึ้น

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันยังดีดตัวขึ้นแตะ 175.2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2543 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในช่วง 6 เดือนข้างหน้าพุ่งขึ้นสู่ระดับ 106.6 จากระดับ 102.7 ของเดือนเม.ย.

-- ผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์ระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐเพิ่มขึ้น 3.7% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 3.9% ของเดือนก.พ.

ราคาบ้านไม่ได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวลงของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการจำนอง

ส่วนดัชนีราคาบ้านใน 20 เมืองของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.7% ในเดือนมี.ค. จากระดับ 3.0% ของเดือนก.พ.

ราคาบ้านเพิ่มขึ้นสูงสุดในเมืองลาสเวกัส, แทมปา และฟีนิกซ์

-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีกำหนดการเปิดเผยวันนี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเดือนพ.ค.ของเกาหลีใต้ อัตราว่างงานเดือนพ.ค. ของเยอรมนี รวมถึงดัชนีการผลิตเดือนพ.ค.จากเฟดสาขาริชมอนด์

ส่วนในวันพรุ่งนี้ สหรัฐเตรียมเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2562 (ประมาณการครั้งที่ 2) ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนเม.ย. และ สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ