Analysis: ที่ประชุม RCEP ประกาศความสำเร็จผลการเจรจา 20 ข้อบท,การเชื่อมโยงระดับภูมิภาค หลังปิดฉากซัมมิตอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 5, 2019 13:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บรรดาผู้นำของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และประเทศคู่เจรจาได้เสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดที่กรุงเทพฯ แล้วเมื่อวานนี้ โดยมีความคืบหน้าที่สำคัญในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือ RCEP แม้ว่าอินเดียมีประเด็นปัญหาสำคัญที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขก็ตาม

อาเซียนและประเทศคู่เจรจาได้ตกลงกันเกี่ยวกับมาตรการที่เป็นรูปธรรม เพื่ออำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงกัน และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในระหว่างการประชุมระยะเวลา 3 วัน

นอกเหนือจากการประชุมสุดยอดระหว่าง 10 ประเทศสมาชิกแล้ว อาเซียนยังได้จัดการประชุมสุดยอดกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ อาทิ การประชุม 10+1 และการประชุม 10+3 รวมถึงการจัดประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกระหว่างอาเซียนและอีก 8 ประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐและรัสเซียด้วย

การเจรจา RCEP บรรลุความสำเร็จที่สำคัญ

แถลงการณ์ร่วมของบรรดาผู้นำที่ประกาศหลังการประชุมสุดยอด RCEP เมื่อเย็นวานนี้ ระบุว่า "15 ประเทศที่เข้าร่วม RCEP ได้สรุปการเจรจาทั้ง 20 ข้อบท และประเด็นการเข้าถึงตลาดทั้งหมด และดำเนินการปรับปรุงด้านกฎหมายเพื่อเริ่มการลงนามในปี 2563"

อย่างไรก็ตาม "อินเดียมีปัญหาที่สำคัญซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข" แถลงการณ์ระบุ และเพิ่มเติมว่า "ทุกประเทศที่เข้าร่วม RCEP จะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในแนวทางที่ส้รางความพอใจร่วมกัน"

"การตัดสินใจขั้นสุดท้ายของอินเดียจะขึ้นอยู่กับมติที่น่าพอใจของประเด็นปัญหาเหล่านั้น"

RCEP เป็นข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่ระหว่าง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนและพันธมิตรการค้าเสรี 6 ประเทศ ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดียออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ เมื่อเริ่มดำเนินการ RCEP จะกลายเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งครอบคลุม 32.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โลก และประชากร 3.5 พันล้านคนหรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก โดยเศรษฐกิจของ RCEP คิดเป็นสัดส่วน 29.1% ของการค้าโลก และประมาณ 1 ใน 3 ของการลงทุนทั่วโลก

นายเชียง วันนะริธ ประธานสถาบัน Asian Vision Institute กล่าวว่า ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากสินค้าที่มีราคาถูกลงและหลากหลายมากขึ้นจากประเทศสมาชิก RCEP และกล่าวเสริมว่า โลจิสติกมีบทบาทสำคัญในการลดต้นทุนการขนส่ง

"โครงการเชื่อมโยงทางกายภาพ และการปฏิรูปศุลกากร จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับศักยภาพที่เกิดจาก RCEP" เขากล่าว

ขณะที่นายโจเซฟ แมทธิวส์ ศาสตราจารย์อาวุโสจากมหาวิทยาลัยนานาชาติ BELTEI ในกรุงพนมเปญกล่าวว่า "RCEP จะช่วยเปิดประตูแห่งโอกาสใหม่ๆ สำหรับประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุดในกล่ม เช่น กัมพูชา ลาว เวียดนาม และพม่า "

อาเซียน,จีนปรับแผนการพัฒนาเพื่อการเชื่อมโยงกัน

ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนในปีนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ก้าวไปอีกขั้นเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ด้วยการประสานแผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน (MPAC) 2568 และโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) เข้าด้วยกัน

ทั้งสองฝ่ายจะอาศัยข้อได้เปรียบของกันและกัน และทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, ระดมทุนทางการเงิน, อำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ส่งเสริมการเจรจาด้านนโยบาย และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน เพื่อผลักดันการเชื่อมโยงทุกด้านในภูมิภาค

"เราต้องการการเชื่อมโยงที่ดีขึ้นสำหรับการเติบโตในภูมิภาค แผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน (MPAC) 2568 อาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ด้วยความร่วมมือกับโครงการ Belt and Road ผมเห็นการไหลเวียนของสินค้าและการบริการที่ง่ายขึ้นในอาเซียนจากฝั่งจีน และอีกฝั่งหนึ่งเช่นกัน" นายแทน ค็อค ไว ทูตพิเศษของรัฐบาลมาเลเซียประจำประเทศจีนกล่าว

เพื่อให้บรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล อาเซียนและจีนจะร่วมมือกันในการสร้างเครือข่ายเมืองอัจฉริยะ, สำรวจความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อปรับปรุงการดำรงชีวิตของประชาชนในกระบวนการพัฒนาความเป็นเมือง

ทั้งนี้ อาเซียนและจีนตกลงที่จะสนับสนุนให้มีการสร้างความร่วมมือด้านเมืองที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างเมืองต่างๆ ของอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้เครือข่ายเมืองอัจฉริยะในอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network) และเมืองต่างๆ ของจีน เช่น หนานหนิง, เซียะเหมิน, หางโจว, จิ่นหนาน, คุนหมิง, เซินเจิ้น, หนานจิง และ เฉิงตู

การสร้างประชาคมอาเซียนที่ยั่งยืน

การประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "การพัฒนาความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน" นั้น กลุ่มอาเซียนมีความมุ่งมั่นที่จะ "ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้ตระหนักถึงประชาคมอาเซียนที่มุ่งเน้นไปที่ประชาชน และประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง" แถลงการณ์ของประธานระบุหลังจากการประชุมสุดยอดอาเซียน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยได้กล่าวในพิธีปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อวานนี้ว่า อาเซียนตั้งเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยพลวัต เพื่อให้สามารถรับผลประโยชน์และโอกาสในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4, ส่งเสริมความร่วมมือและการเชื่อมโยง และนำมาซึ่งความยั่งยืนในทุกมิติ

"ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการส่งเสริม 'การเชื่อมต่อกลยุทธ์การเชื่อมโยง' ซึ่งจะสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างกลยุทธ์การเชื่อมโยงระดับภูมิภาคที่หลากหลาย และ MPAC 2568 บนพื้นฐานของการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า ในเรื่องนี้ อาเซียนได้ประกาศโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญ 19 โครงการ ซึ่งถือว่ามีศักยภาพที่จะดึงดูดการลงทุนร่วมกันจากภาครัฐและเอกชน

นอกจากนี้ อาเซียนยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือในประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงการต่อสู้กับขยะทะเล, การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการส่งเสริมสิทธิเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชน โดยพล.อ.ประยุทธ์ได้ระบุถึง 3C ซึ่งได้แก่ ความต่อเนื่อง (Continuity) , ความร่วมมือ (Complementarity) และ ความสร้างสรรค์ (Creativity) ว่ามีความจำเป็นต่อการรับประกันความยั่งยืนในอาเซียน

การส่งเสริมระบบพหุภาคีท่ามกลางอุปสรรคต่างๆ

การประชุมสุดยอดในปีนี้จัดขึ้นในช่วงเวลาที่อาเซียนและประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน รวมถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ, การดำเนินการเพียงฝ่ายเดียวและการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นในเวลานี้ และอื่นๆ

แถลงการณ์หลังการประชุมระบุว่า ในฐานะที่เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก อาเซียนให้ความสำคัญกับความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีที่โปร่งใส, เปิดกว้างครอบคลุม และระบบการค้าพหุภาคีที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์

สมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาจำนวนมากได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการส่งเสริมการค้าเสรี และพหุภาคี รวมถึงส่งเสริมการรวมกลุ่มในระดับภูมิภาค

ส่วนแถลงการณ์ของประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนระบุว่า ทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันอีกครั้งถึง "การสนับสนุนที่เข้มแข็งสำหรับระบบพหุภาคีและภูมิภาคนิยม และเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในระดับสากลตามกฎระเบียบและตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ, ผลประโยชน์ร่วมกัน และการเคารพซึ่งกันและกัน"

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ความคืบหน้าในการเจรจา RCEP ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นด้านการค้าเสรีพหุภาคีของประเทศต่างๆ

"แนวทางการค้าแบบพหุภาคีได้เข้ามาแทนที่ระบบการดำเนินการเพียงฝ่ายเดียวและการกีดกันทางการค้าที่ถือเป็นศัตรูและแม้กระทั่งโรคมะเร็งทางเศรษฐกิจของการพัฒนาทั่วโลก" นายแมทธิวส์แห่งมหาวิทยาลัยนานาชาติ BELTEI กล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มอาเซียนก่อตั้งขึ้นในปี 2510 ซึ่งประกอบด้วย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และ เวียดนาม

บทวิเคราะห์โดย Dan Ran และ Lin Hao

สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ