ผลสำรวจ PwC เผยซีอีโอทั่วโลกมีมุมมองเป็นลบต่อเศรษฐกิจโลกสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 21, 2020 10:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

PwC เผยผลสำรวจความคิดเห็นซีอีโอเกือบ 1,600 คน จาก 83 ประเทศทั่วโลก ในการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยพบว่า ซีอีโอทั่วโลกต่างแสดงมุมมองที่เป็นลบต่อเศรษฐกิจโลกสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ ซีอีโอ 53% คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะลดลงในปี 2563 ซึ่งเป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นจากผลการสำรวจซีอีโอปี 2562 ที่ 29% และ 5% ในปี 2561

ในทางตรงกันข้าม จำนวนซีอีโอที่คาดว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะเพิ่มขึ้นนั้น ลดลงจาก 42% ในปี 2562 เหลือเพียง 22% ในปี 2563

ซีอีโอที่มีมุมมองเป็นลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมากเป็นพิเศษ ได้แก่ ซีอีโอในอเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก และตะวันออกกลาง โดยซีอีโอ 63%, 59% และ 57% จากภูมิภาคดังกล่าวตามลำดับ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตช้าลงในปีนี้

นอกจากนี้ บรรดาซีอีโอยังมีมุมมองที่ไม่ได้เป็นบวกมากนักต่อแนวโน้มของบริษัทตัวเองในปีนี้ โดยมีซีอีโอเพียง 27% ที่ "มั่นใจมาก" เกี่ยวกับการเติบโตขององค์กรใน 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2552 และลดลงจากระดับ 35% ในปี 2562

อย่างไรก็ดี ระดับความเชื่อมั่นของซีอีโอแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหญ่นั้น ซีอีโอจีนและอินเดียมีระดับความเชื่อมั่นสูงสุดที่ 45% และ 40% ตามลำดับ สหรัฐอเมริกา 36%, แคนาดา 27%, สหราชอาณาจักร 26%, เยอรมนี 20%, ฝรั่งเศส 18% และญี่ปุ่นต่ำสุด โดยมีซีอีโอเพียง 11% ที่มั่นใจมากเกี่ยวกับการเติบโตของรายได้ในปี 2563

บรรดาซีอีโอระบุว่า อุปสรรคสำคัญสามอันดับแรกที่มีผลต่อแนวโน้มการเติบโตขององค์กร ประกอบด้วย กฎระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวดมากเกินไป ความขัดแย้งทางการค้า และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ บรรดาซีอีโอยังกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีภัยธรรมชาติรุนแรงเพิ่มมากขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงถูกปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ บดบังความสำคัญ ประเด็นนี้จึงยังไม่ติดสิบอันดับอุปสรรคสำคัญต่อแนวโน้มการเติบโตขององค์กร

อย่างไรก็ดี บรรดาซีอีโอเห็นด้วยกับการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจังมากขึ้น หากเทียบกับครั้งหลังสุดที่มีการถามคำถามนี้เมื่อสิบปีที่แล้ว บรรดาซีอีโอที่ "เห็นด้วยอย่างยิ่ง" ว่าการลงทุนในโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเพิ่มชื่อเสียงให้กับองค์กร มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า (30% ในปี 2563 เทียบกับ 16% ในปี 2553) ขณะเดียวกัน ซีอีโอที่มองว่าโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างโอกาสใหม่ ๆ ด้านผลิตภัณฑ์และบริการขององค์กร เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 25% ในปี 2563 เทียบกับ 13% ในปี 2553

สำหรับมุมมองที่ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างโอกาสใหม่ ๆ ด้านผลิตภัณฑ์และบริการนั้น ค่อนข้างคงที่ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร แต่มุมมองเดียวกันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในจีนตลอดสิบปีที่ผ่านมา โดยในปี 2553 มีซีอีโอจีนเพียง 2% ที่มองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนำไปสู่โอกาส แต่ในปี 2563 มีมากถึง 47% นับว่าเพิ่มขึ้นมากที่สุดในบรรดาประเทศที่มีการสำรวจ

ผลสำรวจระบุด้วยว่า สหรัฐยังคงเป็นตลาดอันดับหนึ่งที่บรรดาซีอีโอต้องการทำธุรกิจใน 12 เดือนข้างหน้า ที่ระดับ 30% ตามมาด้วยจีนที่ 29% อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งทางการค้าและความตึงเครียดทางการเมืองส่งผลให้ซีอีโอจีนสนใจตลาดสหรัฐลดลงอย่างมาก โดยในปี 2561 ซีอีโอจีน 59% เลือกสหรัฐเป็นตลาดสำคัญหนึ่งในสามอันดับแรก แต่ในปี 2563 ตัวเลขดังกล่าวร่วงลงเหลือเพียง 11% และพบว่าออสเตรเลียก้าวขึ้นมาเป็นตลาดสำคัญแทน โดยซีอีโอจีน 45% มองว่าออสเตรเลียเป็นตลาดสำคัญหนึ่งในสามอันดับแรก เพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2561

สำหรับตลาดสำคัญ ๆ ที่เหลือในห้าอันดับแรกไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้ว ได้แก่ เยอรมนี (13%) อินเดีย (9%) และสหราชอาณาจักร (9%) โดยสหราชอาณาจักรยังติดห้าอันดับแรกแม้เผชิญความไม่แน่นอนจาก Brexit ส่วนออสเตรเลียยังไม่สามารถก้าวขึ้นมาติดห้าอันดับแรกแม้ได้รับความสนใจจากซีอีโอจีนมากขึ้นก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ