หัวเว่ย มอบระบบ Telemedicine ช่วยแพทย์และจนท.ภาคสนามไทยสู้ภัยโควิด-19

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 16, 2020 11:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หัวเว่ย มอบระบบวิดีโอเทเลคอนเฟอเรนซ์แบบเรียลไทม์เพื่อการแพทย์ (Huawei Telemedicine Video Conferencing Solution) ให้แก่กรมควบคุมโรคและโรงพยาบาลในประเทศไทย เพื่อช่วยสนับสนุนประเทศไทยในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19

สำหรับนวัตกรรมที่หัวเว่ยให้การสนับสนุนมีมูลค่ารวมประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยระบบ Telepresence จำนวน 7 ชุด และสามารถรองรับบัญชีผู้ใช้สำหรับเจ้าหน้าที่ผ่านอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์ได้ถึง 200 บัญชี โดยปฏิบัติการผ่านแพลตฟอร์ม CloudLink ของหัวเว่ย ทั้งนี้ ทีมงานจากหัวเว่ยสามารถติดตั้งอุปกรณ์และระบบต่างๆ ใน 5 สถานที่สำคัญได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์สารสนเทศ กรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้กำลังใจและกล่าวขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ที่ประจำการอยู่ ณ จุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลบางพลี และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ผมขอขอบคุณทางหัวเว่ยที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับประเทศไทยในการรับมือกับโควิด-19 ผ่านความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีของบริษัท ผมหวังว่าหัวเว่ยจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของประเทศไทยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยต่อไปในอนาคต"

ด้านนายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ผมขอเป็นกำลังใจให้กับทุกภาคส่วนที่ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการสู้กับโรคระบาดครั้งนี้ และทุกท่านที่เสียสละทำงานอยู่เบื้องหลัง หัวเว่ยพร้อมเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนประเทศไทยในการต่อสู้ครั้งนี้ ประเทศไทยสู้ๆ!"

แพลตฟอร์มดังกล่าวจะทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์จากทั่วประเทศไทยสามารถทำงานร่วมกับแพทย์และเจ้าหน้าที่ภาคสนาม ในการให้คำปรึกษาออนไลน์ทางไกลกับผู้ป่วย ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการวินิจฉัยและรักษา ยิ่งไปกว่านั้น แพทย์และพยาบาลยังสามารถเฝ้าระวังอาการของผู้ป่วยได้จากทุกที่ ผ่านอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์ จึงลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

นอกจากนี้ ระบบ teleconsultation หรือการให้คำปรึกษาทางไกล และการฝึกอบรมแบบอินเตอร์แอคทีฟ ยังสามารถช่วยเสริมศักยภาพในการควบคุมโรคตามพื้นที่ต่างๆ ในประเทศอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ