COVID-19อุตฯรถยนต์อังกฤษเรียกร้องรัฐบาลออกมาตรการหนุนอีก หวังฝ่าวิกฤตโควิด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 23, 2020 13:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อุตสาหกรรมรถยนต์ของอังกฤษเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการเพิ่มเติม อาทิ การปรับลดภาษีการขาย เพื่อหนุนภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ ขณะที่พนักงานในธุรกิจนี้ยังคงถูกพักงาน อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โรงงานผลิตรถยนต์ได้ปิดทำการมาตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลอังกฤษบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยในปัจจุบันโรงงานบางแห่งยังคงปิดทำการต่อไป และหลายแห่งเปิดทำการแล้ว แต่มีอัตราการผลิตที่ลดลงอย่างมาก ส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์มีการผลิตที่ระดับต่ำสุดในรอบหลายสิบปี

สมาคมผู้ผลิตและผู้ค้ารถยนต์ (SMMT) เปิดเผยว่า ปริมาณการผลิตรถยนต์และรถแวน จะลดลงราว 1 ใน 3 สู่ระดับ 920,000 คันในปีนี้ และจะส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานราว 1 ใน 6 ตำแหน่ง

ทั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษได้ออกนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรวมถึงช่วยเหลือโครงการพักงาน โดยจ่ายเงินช่วยเหลือราว 80% ของเงินเดือน หรือ ประมาณ 2,500 ปอนด์ (3,120 ดอลลาร์) ต่อเดือนให้กับพนักงานที่ถูกพักงานชั่วคราวจากผลกระทบของโรคระบาด

นายไมค์ ฮาเวส ซีอีโอของ SMMT ระบุว่า SMMT ต้องการมาตรการเพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมรถยนต์เริ่มการดำเนินงาน, เพื่อเพิ่มอุปสงค์, ปริมาณการผลิต และการขยายตัว

นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการเพื่อช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนฉุกเฉินได้อย่างไม่จำกัด

อุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งถือเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ที่สุดของอังกฤษนั้น ยังวิตกด้วยว่า เงื่อนไขการค้ากับสหภาพยุโรป (EU) อาจย่ำแย่ลง เมื่อระยะเวลาเปลี่ยนผ่านของการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) สิ้นสุดลงในปลายปีนี้

SMMT ระบุว่า "Brexit แบบไม่มีข้อตกลง จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแนวโน้มเหล่านี้ และปริมาณการผลิตรถยนต์อาจลดต่ำกว่า 850,000 คันภายในปี 2568 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2496"

รัฐบาลอังกฤษได้ให้สัญญาที่จะสนับสนุนธุรกิจต่างๆ ในการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ไปโดยตลอด และกำลังมีการเจรจาระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรปเพื่อทำข้อตกลงการค้าระหว่างกันซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ปีหน้าเป็นต้นไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ