World Today: สรุปประเด็นน่าติดตามประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 1, 2020 09:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวก 217.08 จุดเมื่อคืนนี้ เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐซึ่งรวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่พุ่งเกินคาดในเดือนมิ.ย.นั้น ทำให้นักลงทุนมีความหวังว่าเศรษฐกิจของประเทศจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในเร็วๆนี้ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ให้คำมั่นว่าจะร่วมมือกันพยุงเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19

-- นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ได้แถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อวานนี้ เกี่ยวกับบทบาทของเฟดและกระทรวงการคลังสหรัฐในการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ในการแถลงครั้งนี้ ทั้งนายพาวเวลและนายมนูชินต่างก็ให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าพยุงเศรษฐกิจสหรัฐให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขในครั้งนี้ไปให้ได้ โดยนายมนูชินกล่าวว่า กระทรวงการคลังและเฟดกำลังหาลู่ทางที่จะขยายโครงการเงินกู้ฉุกเฉิน 11 โครงการที่จัดตั้งขึ้นโดยเฟดให้สามารถเข้าถึงความต้องการของตลาดเป็นวงกว้าง พร้อมกับย้ำว่า โครงการเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อเยียวยาผลกระทบโควิด-19 นั้น จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาจากสภาคองเกรส ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะใหม่

-- ผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์ ระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐพุ่งขึ้น 4.7% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว หลังจากที่เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนมี.ค.

ส่วนดัชนีราคาบ้านใน 20 เมืองของสหรัฐ พุ่งขึ้น 4% หลังจากเพิ่มขึ้น 3.9% ในเดือนมี.ค.

ทั้งนี้ ราคาบ้านได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของผู้ซื้อบ้าน, สต็อกบ้านที่ตึงตัว และอัตราดอกเบี้ยจำนองที่ระดับต่ำ

-- ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวสู่ระดับ 98.1 ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 85.9 ในเดือนพ.ค. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 91.0

ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐต่างๆในสหรัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้เริ่มมีการเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง

ดัชนีความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้าต่างก็ดีดตัวขึ้น

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้า, สถานะการเงินส่วนบุคคล และการจ้างงาน

-- ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย refinancing และอัตราดอกเบี้ย rediscount โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ธนาคารกลางจีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ refinancing สำหรับธุรกิจด้านการเกษตรและบริษัทขนาดเล็กลง 0.25% และปรับลดอัตราดอกเบี้ย rediscount ลง 0.25% สู่ระดับ 2%

นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ refinancing เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ลง 0.5% สู่ระดับ 1.75%

-- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนซึ่งมาร์กิตจัดทำร่วมกับไฉซิน อยู่ที่ระดับ 51.2 ในเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้นจากระดับ 50.7 ในเดือนพ.ค. และแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับ 50.5

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่เคลื่อนไหวเหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของจีนมีการขยายตัว ขณะที่ดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 จะบ่งชี้ถึงภาวะหดตัว

ข้อมูลของไฉซินมีความสอดคล้องกับที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานเมื่อวานนี้ว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนมิ.ย.ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.9 จากระดับ 50.6 ในเดือนพ.ค.

-- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของเอเชีย โดยคาดว่าจะหดตัวลง 1.6% ในปีนี้ ขณะที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากคาดการณ์ในเดือนเม.ย.ว่าจะมีการขยายตัว 0%

IMF ระบุว่า เศรษฐกิจเอเชียมีการขยายตัวมากกว่าที่คาดไว้ในช่วงไตรมาสแรก จากการที่บางประเทศสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน IMF คาดว่าเศรษฐกิจเอเชียจะขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในปีหน้า หากไม่มีการแพร่ระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 โดยจะมีการเติบโต 6.6% ขณะที่ได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

-- Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 10,583,932 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 513,861 ราย

สหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลก (2,727,853) รองลงมาคือบราซิล (1,408,485), รัสเซีย (647,849), อินเดีย (585,792), สหราชอาณาจักร (312,654) และสเปน (296,351)

นอกจากนี้ สหรัฐยังเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดในโลก (130,122) ตามมาด้วยบราซิล (59,656), สหราชอาณาจักร (43,730), อิตาลี (34,767) และฝรั่งเศส (29,843)

-- นายแพทย์แอนโทนี ฟอซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐ และเป็นนายแพทย์ใหญ่ของคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการควบคุมไวรัสโควิด-19 ของทำเนียบขาว เปิดเผยว่า สหรัฐไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจพุ่งขึ้นมากกว่า 100,000 รายในแต่ละวัน หากไม่มีการดำเนินการใดๆ

"ผมไม่สามารถทำนายได้อย่างแม่นยำ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นถือว่าน่าวิตกมาก โดยขณะนี้เราเห็นผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 40,000 รายในแต่ละวัน และผมจะไม่ประหลาดใจ ถ้าเราเห็นตัวเลขเพิ่มขึ้นมากกว่า 100,000 รายทุกวัน หากเราไม่หาทางพลิกสถานการณ์" นายแพทย์ฟอซีกล่าว

-- สมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) ทำการลงมติเมื่อวานนี้เพื่ออนุมัติรายชื่อ"ประเทศปลอดภัย"นอก EU ที่นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจากกลุ่มประเทศดังกล่าวจะสามารถเดินทางเข้าสู่ EU ได้

ทั้งนี้ EU ได้ทำการอนุมัติ 15 ประเทศในรายชื่อดังกล่าว ซึ่งได้แก่ ไทย จีน แอลจีเรีย ออสเตรเลีย แคนาดา จอร์เจีย ญี่ปุ่น มอนเตเนโกร โมรอกโก นิวซีแลนด์ รวันดา เซอร์เบีย เกาหลีใต้ ตูนิเซีย และอุรุกวัย โดยนักท่องเที่ยวจากประเทศเหล่านี้จะสามารถเดินทางเข้าสู่ EU ตั้งแต่วันนี้

อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวจากจีนจะได้รับอนุมัติให้เดินทางมายัง EU ก็ต่อเมื่อจีนยอมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจาก EU

EU ระบุว่า การตัดสินใจอนุมัติรายชื่อประเทศดังกล่าว ได้อิงจากสถานการณ์ความปลอดภัยด้านสุขภาพของประเทศที่ได้รับการอนุมัติ และจะมีการทบทวนทุก 2 สัปดาห์

นอกจากนี้ EU ยังกำหนดกฎเกณฑ์ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในช่วง 14 วันที่ผ่านมา และอัตราผู้ติดเชื้อเมื่อเทียบประชากร 100,000 รายของประเทศในรายชื่อดังกล่าว จะต้องใกล้เคียงหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ EU รวมทั้งแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะต้องคงที่ หรือลดลงเมื่อเทียบกับในช่วง 14 วันที่ผ่านมา และ EU จะพิจารณารวมถึงมาตรการของรัฐบาลในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19

-- นายแพทย์แอนโทนี ฟอซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐ และเป็นนายแพทย์ใหญ่ของคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการควบคุมไวรัสโควิด-19 ของทำเนียบขาวเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐกำลังจับตาไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่พบในสุกรของจีน

นายแพทย์ฟอซีกล่าวว่า ไวรัสดังกล่าวมีลักษณะเฉพาะตัวเช่นเดียวกับไวรัส H1N1 ที่มีการระบาดในปี 2552 และไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาดในปี 2461

อย่างไรก็ดี นายแพทย์ฟอซีระบุว่า ไวรัสดังกล่าว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อว่า "G4 EA H1N1" ไม่มีแนวโน้มที่จะติดเชื้อในมนุษย์

-- แหล่งข่าวจากสหภาพการค้าของฝรั่งเศสเปิดเผยว่า สายการบินแอร์ ฟรานซ์มีแผนที่จะปลดพนักงานมากกว่า 7,500 คนตั้งแต่ขณะนี้จนถึงปี 2565

ก่อนหน้านี้ นายเบน สมิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแอร์ ฟรานซ์กล่าวว่า บริษัทกำลังจัดเตรียมโครงการที่จะให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจ หลังจากที่ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพนักงานจำนวน 20% หรือ 9,000 คน จากทั้งหมด 45,000 คนในขณะนี้

-- สื่อท้องถิ่นของเยอรมนีเผยว่า คณะกรรมการกำกับดูแลของธนาคารคอมเมิร์ซแบงก์เตรียมหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะปลดพนักงานอีก 7,000 คน นอกเหนือจากแผนปรับลดพนักงาน 4,000 คนภายในปี 2566 ตามที่ได้ประกาศไปเมื่อปีที่แล้ว

หนังสือพิมพ์ธุรกิจ Boersenzeitung ยังรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในแวดวงการเงินด้วยว่า คอมเมิร์ซแบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 2 ของเยอรมนี กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาที่จะปิดสาขา 400 แห่งจาก 1,000 แห่งในประเทศ ซึ่งสูงกว่าที่เคยมีการรายงานไว้ก่อนหน้านี้สองเท่า หลังเผชิญแรงกดดันจากผู้ถือหุ้นเรื่องแผนกลยุทธ์และสถานะความเป็นผู้นำ

อย่างไรก็ดี โฆษกของคอมเมิร์ซแบงก์เผยว่า คณะกรรมการยังไม่ได้ตัดสินใจเกี่ยวกับการปรับกลยุทธ์ ซึ่งก่อนหน้านี้มีรายงานว่าอาจประกาศออกมาในเดือนส.ค.

-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจในวันนี้ ญี่ปุ่นมีกำหนดเปิดเผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. ขณะที่มาร์กิตจะเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนมิ.ย. ของฝรั่งเศส, เยอรมนี, อียู และสหรัฐ เยอรมนีจะเปิดเผยอัตราว่างงานเดือนมิ.ย. และสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมิ.ย.จาก ADP, ดัชนีภาคการผลิตเดือนมิ.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนพ.ค., สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รวมถึงการเปิดเผยรายงานการประชุมวันที่ 9-10 มิ.ย.ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) (เช้าวันที่ 2 ก.ค.)

ส่วนในวันพรุ่งนี้ เกาหลีใต้เตรียมเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิ.ย. อียูจะเปิดเผยอัตราว่างงานเดือนพ.ค. และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพ.ค. ด้านสหรัฐเตรียมเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, อัตราว่างงานเดือนมิ.ย., ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนพ.ค., ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือนมิ.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนพ.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ