ชาวเซี่ยงไฮ้ผุดไอเดียสร้าง NFT บันทึกความทรงจำเหตุการณ์ล็อกดาวน์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 4, 2022 10:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ชาวเมืองเซี่ยงไฮ้หันมาให้ความสนใจกิจกรรมบล็อกเชน ด้วยการมินต์ (mint) วิดีโอ, รูปภาพ และงานศิลปะ เพื่อสร้าง NFT (Non-Fungible Tokens) โดยมีเป้าหมายที่จะบันทึกความทรงจำในช่วงเวลาที่พวกเขาเผชิญกับการล็อกดาวน์เป็นเวลานานนับเดือน

เมืองเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินของจีนและมีพลเมืองจำนวนมากถึง 25 ล้านคนยังคงอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนซึ่งถูกสั่งให้อยู่แต่ในบ้านนั้น พากันระบายความรู้สึกทุกข์ระทมผ่านทางออนไลน์ โดยบอกเล่าถึงความรู้สึกยากลำบากในการหาซื้ออาหารและสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่เนื่องจากทางการจีนมีนโยบายควบคุมอินเทอร์เน็ตและกลุ่มสนทนาบนแอปพลิเคชันอย่างเข้มงวด จึงทำให้ชาวเซี่ยงไฮ้หันไปถ่ายทอดความรู้สึกเหล่านี้ผ่านสร้าง NFT เพื่อเก็บบันทึกความทรงจำ และเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากรัฐบาลจีน

ทั้งนี้ NFT เป็นคริปโทเคอร์เรนซีประเภทหนึ่งที่แสดงความเป็นเจ้าของทรัพย์สินดิจิทัลซึ่งรวมถึงงานศิลปะ และมีการขายสินทรัพย์นี้ในราคาสูงถึงหลายล้านดอลลาร์ โดยปกติแล้ว NFT จะมีการซื้อขายบนแพลตฟอร์มบล็อกเชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแพลตฟอร์มอีเธอร์เรียม เพื่อช่วยให้ประชาชนทำธุรกรรมการซื้อขายด้วยคริปโทเคอร์เรนซี

เหตุการณ์ที่ชาวเซี่ยงไฮ้นำมามินต์เพื่อสร้างเป็น NFT มากที่สุดนั้น คือเหตุการณ์ของวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา เมื่อชาวเน็ตจำนวนมากต้องต่อสู้กับระบบเซ็นเซอร์ของจีนทั้งวันทั้งคืนเพียงเพื่อจะแชร์วิดีโอความยาว 6 นาทีที่มีชื่อว่า "The Voice of April" โดยขณะนี้ NFT ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้ได้ปรากฏบน OpenSea ซึ่งเป็นตลาดออนไลน์สำหรับซื้อขาย NFT

จีนได้ใช้มาตรการเข้มงวดในการควบคุมสกุลเงินดิจิทัล รวมทั้งสั่งห้ามซื้อขายสกุลเงินดังกล่าวในประเทศ ส่วน NFT ในจีนนั้น ไม่มีการซื้อด้วยคริปโทเคอร์เรนซี แต่สามารถซื้อด้วยเงินหยวน นอกจากนี้ NFT ในจีนไม่ได้สร้างบนบล็อกเชนเช่นอีเธอร์เรียม แต่สร้างบนบล็อกเชนอื่น ๆ ที่หน่วยงานของรัฐบาลจีนเป็นผู้กำกับดูแล

นับจนถึงขณะนี้ จีนยังไม่ได้ออกกฎข้อบังคับเกี่ยวกับ NFT ในประเทศ โดยผู้ใช้งานสามารถซื้องานสะสมดิจิทัลเหล่านี้ได้จากตลาด แต่ห้ามนำไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง ทั้งนี้ เนื่องจาก NFT สามารถเก็งกำไรได้ บรรดาบริษัทเทคโนโลยีในจีนจึงพากันระมัดระวังในเรื่องนี้ เพราะกังวลว่ารัฐบาลจีนจะออกมาตรการควบคุม NFT ในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ