วันแดงเดือดป่วนโลก! หุ้น-น้ำมัน-ทองกอดคอดิ่งเหวจากพิษเศรษฐกิจถดถอย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 5, 2022 23:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาสินทรัพย์ทั่วโลก ได้แก่ หุ้น น้ำมัน และทอง ต่างทรุดตัวลงในวันนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวลง 700 จุด หรือ 2.25% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ดิ่งลง 2% และดัชนี Nasdaq ร่วงลง 1% โดยหุ้นทุกกลุ่มในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทต่างปรับตัวลง นำโดยหุ้นกลุ่มพลังงานตามการดิ่งลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดิ่งลงกว่า 8% หลุดระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ร่วงลง 9.50% หลุดระดับ 103 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่ซิตี้กรุ๊ปคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะทรุดตัวลงแตะระดับ 65 ดอลลาร์ในปลายปีนี้ หากเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย

ด้านราคาทองฟิวเจอร์ดิ่งลงกว่า 30 ดอลลาร์ หลุดระดับ 1,770 ดอลลาร์ในวันนี้ ถึงแม้ทองได้รับการมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ และเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในยามที่ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แสดงความมุ่งมั่นในการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ก็ได้บดบังปัจจัยบวกดังกล่าว เนื่องจากการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทอง เนื่องจากทองเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว

ทั้งนี้ เฟดสาขาแอตแลนตาเปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 2.1% ในไตรมาส 2 จากเดิมที่บ่งชี้ว่ามีแนวโน้มหดตัว 1.0%

ตัวเลขคาดการณ์ GDPNow บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวในไตรมาส 2 รุนแรงกว่าไตรมาส 1 ซึ่งหดตัว 1.6% และแสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

เฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งใหม่ในวันที่ 7 ก.ค.

นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เฟดมีความมุ่งมั่นในการสกัดเงินเฟ้อ แม้การใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินจะชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็จะไม่สร้างความเสี่ยงที่รุนแรง

"เรามีความมุ่งมั่นที่จะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่เรามีเพื่อทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลง ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็คือการลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งแม้จะมีความเสี่ยง แต่ผมก็มองว่านี่ไม่ใช่ความเสี่ยงใหญ่ที่สุดต่อเศรษฐกิจ โดยความผิดพลาดมากกว่าที่อาจเกิดขึ้นก็คือความล้มเหลวในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา" นายพาวเวลกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ