จีนออกกฎคุมธุรกิจสินเชื่อ สั่งเพิ่มเงินทุนขั้นต่ำ มีผลบังคับใช้ 18 เม.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 19, 2024 14:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานกำกับดูแลด้านการเงินแห่งชาติจีน (NFRA) ประกาศใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดต่อธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภค ด้วยการปรับเพิ่มเพดานเงินทุนสำหรับบริษัทการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-bank financial firms) ที่ให้บริการปล่อยเงินกู้ให้กับลูกค้ารายย่อย

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า NFRA ประกาศกฎระเบียบดังกล่าวในวันนี้ และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 เม.ย. โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลจีนกำลังดำเนินการคุมเข้มธุรกิจในภาคการเงิน

ทั้งนี้ กฎระเบียบใหม่กำหนดว่า บริษัทที่มีคุณสมบัติในการปล่อยกู้ให้กับผู้บริโภค ซึ่งไม่รวมถึงเงินกู้เพื่อการซื้อบ้านและรถยนต์นั้น จำเป็นจะต้องมีเงินทุนจดทะเบียนขั้นต่ำมูลค่า 1 พันล้านหยวน (139 ล้านดอลลาร์) ซึ่งสูงกว่าเงินทุนที่กำหนดไว้ในปี 2557 ถึง 3 เท่า

แถลงการณ์ของ NFRA ระบุว่า นักลงทุนที่ทำธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภคจะถูกแบ่งออกเป็นนักลงทุนกลุ่มหลักและนักลงทุนทั่วไป โดยนักลงทุนกลุ่มหลักจะต้องถือครองหุ้นอย่างน้อย 50%

ส่วนสถาบันการเงินที่เป็นนักลงทุนกลุ่มหลักจะต้องมีสินทรัพย์โดยรวมขั้นต่ำอยู่ที่ 5 แสนล้านหยวน (6.945 หมื่นล้านดอลลาร์) ภายในปีงบการเงินปัจจุบัน

ขณะที่นักลงทุนกลุ่มหลักที่ไม่ใช่สถาบันการเงินนั้น จะต้องมีรายได้จากการดำเนินงานอย่างน้อย 6 หมื่นล้านหยวน (8.3 พันล้านดอลลาร์) ในปีงบการเงินปัจจุบัน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนพยายามจำกัดการเติบโตของหนี้สินในธุรกิจนอกภาคธนาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินกู้ที่ปล่อยโดยธนาคารเงาซึ่งอยู่นอกระบบธนาคาร

ในช่วงต้นเดือนธ.ค. 2566 มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิสประกาศลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของรัฐบาลจีนลงสู่ระดับ "เชิงลบ" จาก "มีเสถียรภาพ" โดยระบุว่ามาตรการพยุงภาคการเงินของรัฐบาลจีนนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อสถานะการคลังและเศรษฐกิจของประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ