ราคาทองฟิวเจอร์ขยับขึ้นเล็กน้อย จากอานิสงส์ดอลล์อ่อน,นักลงทุนกังวลมาตรการปฏิรูปภาษีสหรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 15, 2017 00:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาทองฟิวเจอร์ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในวันนี้ ขณะที่มีความไม่แน่นอนต่อมาตรการปฏิรูปภาษีของสหรัฐ ซึ่งช่วยหนุนคำสั่งซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

นอกจากนี้ การอ่อนค่าของดอลลาร์เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนราคาทอง

อย่างไรก็ดี ราคาทองยังคงถูกกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า

ณ เวลา 23.59 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเลกทรอนิกส์ ขยับขึ้น 0.70 ดอลลาร์ หรือ 0.05% สู่ระดับ 1,279.60 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง จะเพิ่มความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น

ดอลลาร์อ่อนค่าลงในวันนี้ โดยนักลงทุนกังวลต่อความล่าช้าในการบังคับใช้มาตรการปฏิรูปภาษีของสหรัฐ ขณะที่จับตาตัวเลขเศรษฐกิจ และการจัดประชุมเสวนาของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่มีประธานธนาคารกลางขนาดใหญ่ 4 แห่งเข้าร่วมการประชุม

ณ เวลา 22.55 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์อ่อนค่า 0.12% สู่ระดับ 113.47 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวขึ้น 0.63% สู่ระดับ 133.37 เยน และดีดตัวขึ้น 0.75% สู่ระดับ 1.1752 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.41% สู่ระดับ 94.10

หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ รายงานว่า สมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาเสนอให้มีการชะลอการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 35% สู่ระดับ 20% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงปี 2562

ทั้งนี้ การชะลอการบังคับใช้มาตรการปรับลดอัตราภาษีดังกล่าว ถือเป็นการสวนทางความตั้งใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการให้การปรับลดอัตราภาษีมีผลบังคับใช้โดยทันทีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ นอกจากนี้ ยังอาจจะส่งผลให้บริษัทของสหรัฐที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศเลื่อนการตัดสินใจย้ายฐานกลับสู่สหรัฐ เนื่องจากต้องการรอให้การปรับลดอัตราภาษีมีผลบังคับใช้

ร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับของวุฒิสภามีเนื้อหาแตกต่างจากฉบับของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต้องการให้การปรับลดภาษีมีผลบังคับใช้ในทันที ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดลงมติต่อร่างกฎหมายดังกล่าวในสัปดาห์นี้

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จัดการประชุมเสวนาในวันนี้ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี ภายใต้หัวข้อ "Communication challenges for policy effectiveness, accountability and reputation" ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

นางเยลเลนกล่าวว่า การที่เฟดทำการชี้นำทิศทางนโยบายในอนาคตนั้น เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ก็ควรดำเนินการอย่างมีเงื่อนไข โดยขึ้นอยู่กับการปรับตัวของเศรษฐกิจในขณะนั้น

นางเยลเลนยอมรับว่า ปัจจัยหนึ่งที่ท้าทายเฟดก็คือ การที่เฟดมีสมาชิกคณะกรรมการจำนวนมาก ซึ่งอาจสร้างความสับสนต่อตลาดการเงิน ขณะที่กรรมการเฟดแต่ละคนแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน

ด้านนายคาร์นีย์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางจะต้องสื่อสารด้านนโยบายไปให้ถึงสาธารณชนในวงกว้าง มากกว่าที่จะไปถึงแต่เพียงนักลงทุนในตลาดการเงิน

ส่วนนายคุโรดะกล่าวว่า วิธีที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงการสร้างความเข้าใจผิดต่อตลาดการเงินก็คือ เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางควรใช้ข้อความที่เรียบง่าย

ทางด้านนายดรากีกล่าวว่า การส่งสัญญาณชี้นำล่วงหน้าสำหรับนโยบายการเงินในอนาคตได้ประสบความสำเร็จในการผลักดันการคาดการณ์ของตลาด และขณะนี้มาตรการชี้นำล่วงหน้าดังกล่าวได้ถือเป็นเครื่องมือด้านนโยบายที่มีความสำคัญ

"มาตรการชี้นำล่วงหน้าได้กลายเป็นเครื่องมือด้านนโยบายอย่างเต็มตัว โดยประสบการณ์ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ และเราจะทิ้งเครื่องมือนโยบายการเงินแบบนี้ได้อย่างไร ในเมื่อได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ" นายดรากีกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ