ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดร่วง $5.1 วิตกบอนด์ยีลด์พุ่งหนุนเฟดขึ้นดบ.เร็วกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 31, 2018 06:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (30 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 5.1 ดอลลาร์ หรือ 0.38% ปิดที่ 1,340.00 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 6.9 เซนต์ หรือ 0.40% ปิดที่ 17.058 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 10.9 ดอลลาร์ หรือ 1.1% ปิดที่ 1,001.80 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ดิ่งลง 30.95 ดอลลาร์ หรือ 2.9% ปิดที่ 1,052.45 ดอลลาร์/ออนซ์

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อคืนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 2.712% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.974%

ทั้งนี้ การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรส่งผลให้นักลงทุนวิตกว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ โดยปัจจัยล่าสุดที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ มาจากรายงานของ Conference Board ซึ่งระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐทะยานขึ้นสู่ระดับ 125.4 ในเดือนม.ค. จากระดับ 122.1 ในเดือนธ.ค. ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.จะลดลงสู่ระดับ 123.1

นักลงทุนจับตาผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า เฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ หลังจากที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 1.25-1.50% ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2560

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่นักลงทุนจับตาในสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนม.ค.จาก ADP, ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนธ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนม.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนม.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนธ.ค., ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค., ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนธ.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ