ราคาทองฟิวเจอร์ดิ่งเกือบ 1% ใกล้หลุด 1,320 ดอลลาร์ ปัจจัยดอลล์แข็ง,บอนด์ยีลด์พุ่งทุบตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 25, 2018 21:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาทองฟิวเจอร์ดิ่งลงเกือบ 1% ในวันนี้ ใกล้หลุดระดับ 1,320 ดอลลาร์ โดยถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

นอกจากนี้ การที่สหรัฐและจีนมีแนวโน้มคลี่คลายความขัดแย้งทางการค้า ก็ได้ส่งผลให้ทองลดความน่าดึงดูดในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

ทั้งนี้ นายลู่ กัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า จีนได้รับทราบข่าวที่ว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐจะเดินทางมายังกรุงปักกิ่งเพื่อเจรจาประเด็นเศรษฐกิจและการค้า ซึ่งจีนมีความยินดีต้อนรับเจ้าหน้าที่ดังกล่าว

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กล่าววานนี้ว่า นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลัง และนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เตรียมเดินทางไปยังจีนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เพื่อหารือประเด็นการค้ากับรัฐบาลจีน

ณ เวลา 21.35 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเลกทรอนิกส์ ร่วงลง 11.30 ดอลลาร์ หรือ 0.85% สู่ระดับ 1,321.70 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น จะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น

ดอลลาร์พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 สัปดาห์เหนือระดับ 109 เยนในวันนี้ จากการคาดการณ์เกี่ยวกับช่องว่างอัตราดอกเบี้ยที่กว้างขึ้นระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่น หลังการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อจากกลุ่มผู้นำเข้าของญี่ปุ่น

ณ เวลา 19.23 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์แข็งค่า 0.34% สู่ระดับ 109.18 เยน หลังจากพุ่งแตะระดับ 109.27 เยน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.05% สู่ระดับ 133.02 เยน และร่วงลง 0.39% สู่ระดับ 1.2182 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.42% สู่ระดับ 91.14

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปี ยังคงปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 3% ในวันนี้ หลังจากที่ได้ทะลุระดับดังกล่าวเมื่อวานนี้ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนม.ค.2557

ณ เวลา 19.32 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 3.026% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.203%

ราคาพันธบัตร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน

หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปี ทะยานขึ้นเหนือระดับ 3.04% ก็จะเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2554

ก่อนหน้านี้ ตลาดหุ้น, พันธบัตร และสินค้าโภคภัณฑ์ ได้เคยทรุดตัวลงอย่างหนักมาแล้วในเดือนก.พ. จากความวิตกต่อการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

ทั้งนี้ การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินพุ่งขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นปัจจัยฉุดตลาดหุ้นวอลล์สตรีท และตลาดหุ้นทั่วโลก โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับอัตราเงินกู้จำนอง และอัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ และเครื่องมือทางการเงินในระบบ

นักลงทุนแห่เทขายพันธบัตร หลังสูญเสียความน่าดึงดูดในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย จากการคลายความวิตกในคาบสมุทรเกาหลี และสถานการณ์ในซีเรีย รวมทั้งจากการที่นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ จากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ถึงเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น

ก่อนหน้านี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอยู่ในช่วงขาลงเป็นเวลานานหลายปี จากการที่เฟด และธนาคารกลางของประเทศต่างๆ พากันใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรในตลาด หลังเกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกในปี 2551 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการใช้นโยบายผ่อนคลายดังกล่าวทำให้นักลงทุนต่างเคยชินกับภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ และพากันเข้าซื้อหุ้นในตลาด ส่งผลให้ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นทั่วโลก เนื่องจากคาดว่าเฟดจะยังคงแทรกแซงตลาดต่อไปด้วยการเข้าซื้อพันธบัตร

อย่างไรก็ดี หลังจากที่เฟดประกาศปรับลดงบดุล และลดวงเงินการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ก็ได้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเริ่มดีดตัวขึ้น ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะปรับตัวอยู่ในช่วง 3.0-3.5% ในปลายปีนี้

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่พุ่งขึ้น จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินดีดตัวขึ้น จะทำให้ภาคเอกชนมีต้นทุนในการกู้ยืมมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีการลดการลงทุน, ลดการจ้างงาน รวมทั้งลดการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้น ขณะที่ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย และจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะซบเซา และถดถอยในที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ