ราคาทองพุ่งนิวไฮ 9 เดือน ดีดตัวเดือนที่ 4 ขานรับเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 31, 2019 23:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาทองดีดตัวขึ้นในวันนี้แตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน ส่งผลให้ราคาทองมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 จากอานิสงส์ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวานนี้

ทั้งนี้ ราคาทองสปอตพุ่งแตะ 1,326.30 ดอลลาร์ในวันนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.ปีที่แล้ว

ส่วนราคาทองในตลาดฟิวเจอร์ ณ เวลา 23.45 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ดีดตัวขึ้น 10.40 ดอลลาร์ หรือ 0.79% สู่ระดับ 1,325.90 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง จะเพิ่มความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น

เวลา 22.32 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์ร่วงลง 0.27% สู่ระดับ 108.73 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.19% สู่ระดับ 124.88 เยน และขยับขึ้น 0.05% สู่ระดับ 1.1483 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.06% สู่ระดับ 95.40

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 2.25-2.50% ในการประชุมวานนี้ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของเฟดในปีนี้ ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้

เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยในวันนี้ หลังจากที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ในปีที่แล้ว และเป็นครั้งที่ 9 นับตั้งแต่ที่เฟดเริ่มปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติในเดือนธ.ค.2558

แถลงการณ์หลังการประชุมของเฟดระบุว่า เฟดจะใช้ความอดทนต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งต่อไป โดยจะจับตาภาวะเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน แถลงการณ์ของเฟดได้ตัดข้อความ "เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป" ซึ่งเป็นถ้อยคำที่บ่งชี้ถึงการส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และเฟดได้ทดแทนด้วยข้อความที่ว่า "เฟดกำลังดำเนินแนวทางที่มีความระมัดระวังมากขึ้น" ซึ่งบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงจากนโยบายเดิมที่เฟดใช้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

สภาทองคำโลก (WGC) เปิดเผยว่า อุปสงค์ทองคำทั่วโลกเพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว จากคำสั่งซื้อทองคำจำนวนมากจากธนาคารกลางต่างๆ และการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในทองคำแท่ง และเหรียญทอง

WGC ระบุว่า อุปสงค์ทองคำทั่วโลกเพิ่มขึ้น 4% ในปีที่แล้ว สู่ระดับ 4,345 ตัน โดยธนาคารกลางต่างๆได้ซื้อทองคำสุทธิ 651.5 ตัน ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดเป็นอันดับ 2 โดยเพิ่มขึ้น 74% จากปี 2560

นอกจากนี้ อุปสงค์ในการใช้ทองในการประดิษฐ์เครื่องประดับอยู่ที่ระดับ 2,200 ตัน ขณะที่อุปสงค์สำหรับทองคำแท่งและเหรียญทองเพิ่มขึ้น 4% สู่ระดับ 1,090 ตัน

ส่วนการใช้ทองในภาคเทคโนโลยีแตะระดับ 334.6 ตันในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 1% จากปี 2560

WGS ระบุว่า ธนาคารกลางต่างๆได้ซื้อทองคำสุทธิ 651.5 ตันในปีที่แล้ว โดยเพิ่มขึ้น 74% จากปี 2560 ซึ่งในปีดังกล่าว ธนาคารกลางต่างๆได้ซื้อทองคำสุทธิ 375 ตัน และ WGS คาดการณ์ว่า ขณะนี้ธนาคารกลางทั่วโลกถือครองทองคำในทุนสำรองเกือบ 34,000 ตัน โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นธนาคารกลางซึ่งถือครองทองคำมากที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนราว 3 ใน 4 ของทุนสำรองเงินตราของสหรัฐ

ทั้งนี้ ธนาคารกลางต่างๆได้ซื้อทองคำในปีที่แล้วคิดเป็นปริมาณมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2510 และเป็นปริมาณมากที่สุดนับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันตัดสินใจยกเลิกระบบผูกติดค่าเงินดอลลาร์กับทองคำในปี 2514

เมื่อพิจารณาราคาทองในตลาดสปอตซึ่งอยู่ที่ระดับ 1,321.15 ดอลลาร์/ออนซ์ ธนาคารกลางทั่วโลกได้ซื้อทองคำในปีที่แล้วคิดเป็นมูลค่า 2.77 หมื่นล้านดอลลาร์

WGS ยังระบุว่า ธนาคารกลางรัสเซียได้ซื้อทองคำมากที่สุดในปีที่แล้ว หลังจากที่ได้ขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจนเกือบหมดในทุนสำรอง และได้หันมาซื้อทองคำจำนวน 274.3 ตัน

ส่วนธนาคารกลางอื่นๆที่ได้ซื้อทองคำจำนวนมากในปีที่แล้ว ได้แก่ ตุรกี คาซัคสถาน อินเดีย อิรัค โปแลนด์ และฮังการี

สมาคมทองคำจีน (CGA) เปิดเผยว่า ปริมาณการใช้ทองของจีนพุ่งขึ้น 5.73% ในปีที่แล้ว สู่ระดับ 1,151.43 ตัน จากปัจจัยอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในประเทศ ซึ่งส่งผลให้จีนเป็นประเทศที่มีการใช้ทองมากที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 6

ความต้องการใช้ทองในการประดิษฐ์เครื่องประดับเพิ่มขึ้น 5.71% สู่ระดับ 736.29 ตัน ส่วนความต้องการใช้ทองในภาคอุตสาหกรรมพุ่งขึ้น 17.48% สู่ระดับ 105.94 ตัน

การผลิตทองของจีนลดลง 5.87% สู่ระดับ 401.12 ตันในปีที่แล้ว แต่จีนก็ยังคงเป็นประเทศที่ผลิตทองมากที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 12


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ