ราคาทองพุ่งนิวไฮ 15 สัปดาห์ จากปัจจัยสงครามการค้า,คาดเฟดลดดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 5, 2019 23:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาทองพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 สัปดาห์ในวันนี้ โดยได้ปัจจัยบวกจากความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า รวมทั้งการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ทั้งนี้ ราคาทองสปอตดีดตัวแตะ 1,343.86 ดอลลาร์ในวันนี้ ใกล้กับระดับ 1,346.73 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่ทำไว้ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ.

ส่วนราคาทองในตลาดฟิวเจอร์ ณ เวลา 22.53 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ดีดตัวขึ้น 3.90 ดอลลาร์ หรือ 0.29% สู่ระดับ 1,332.60 ดอลลาร์/ออนซ์

นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า เฟดจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ เพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อ และรับมือกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเผชิญภาวะขาลง อันเนื่องมาจากการทำสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ด้านนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่า เฟดกำลังจับตามองพัฒนาการทางเศรษฐกิจในขณะนี้ และจะดำเนินการในสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไป

"เราไม่รู้ว่าการทำสงครามการค้าจะได้ข้อยุติเมื่อใด และอย่างไร แต่เรากำลังจับตามองสิ่งบ่งชี้เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ และเราจะดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไป โดยมีตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และเงินเฟ้ออยู่ใกล้ระดับเป้าหมาย 2%" นายพาวเวลกล่าว

นอกจากนี้ นายพาวเวลยังเปิดเผยว่า เครื่องมือที่เฟดเคยใช้ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ ซึ่งได้แก่ การกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ใกล้ 0% และการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) มีแนวโน้มที่จะนำมาใช้อีกครั้งหนึ่ง

"บางทีถึงเวลาแล้วที่เฟดจะยุติการใช้คำว่า "แบบไม่ปกติ" เมื่อเราระบุถึงเครื่องมือที่มีการใช้ในช่วงเกิดวิกฤตการณ์ เรารู้ว่าเครื่องมือเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีความจำเป็นในอนาคต ซึ่งเราหวังว่าคงจะใช้ไม่บ่อยนัก" นายพาวเวลกล่าว

FedWatch ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์อัตราดอกเบี้ยสหรัฐของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาส 90% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. และมีโอกาสมากกว่า 80% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธ.ค.

นอกจากนี้ การเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐที่เพิ่มขึ้นต่ำกว่าคาดในเดือนพ.ค. ซึ่งบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐ ก็ได้เป็นปัจจัยผลักดันให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 27,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 9 ปี หลังจากทะยานขึ้น 271,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.ปีที่แล้ว

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าการจ้างงานของภาคเอกชนจะพุ่งขึ้น 173,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค.

การจ้างงานของภาคเอกชนในเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้นในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เศรษฐกิจเริ่มมีการขยายตัว และตลาดแรงงานแตะระดับต่ำสุดในเดือนมี.ค.2553 ซึ่งขณะนั้น การจ้างงานลดลง 113,000 ตำแหน่ง

นายมาร์ค แซนดี หัวหน้านักวิเคราะห์ของมูดี้ส์ อนาลิติกส์ กล่าวว่า การขาดแคลนแรงงานเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการจ้างงาน โดยบริษัทขนาดเล็กได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่การปลดพนักงานของห้างค้าปลีกเป็นปัจจัยลบเช่นกัน

การจ้างงานในภาคบริการเพิ่มขึ้น 27,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค ส่วนการจ้างงานในภาคการผลิตไม่มีการเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ