ชาเขียวมัทฉะจากญี่ปุ่นกำลังเผชิญภาวะขาดแคลนอย่างรุนแรง หลังคลื่นความร้อนในฤดูร้อนปีก่อนส่งผลกระทบต่อผลผลิตในปีนี้ ทำให้อุปทานตึงตัวและราคาพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางความต้องการทั่วโลกที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
ภูมิภาคเกียวโตซึ่งเป็นแหล่งผลิต "เทนฉะ" หรือใบชาที่ผ่านการอบแห้งและบดจนกลายเป็นผงมัทฉะ คิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของผลผลิตรวมทั้งประเทศ ได้รับผลกระทบหนักจากอากาศร้อนจัดในปี 2567 ซึ่งเป็นปีที่อุณหภูมิในญี่ปุ่นสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ส่งผลให้ผลผลิตฤดูเก็บเกี่ยวเดือนเม.ย.พ.ค.ปีนี้ลดลงอย่างมาก
สมาคมผลิตชาญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นสามารถผลิตเทนฉะได้ 5,336 ตันในปี 2567 เพิ่มขึ้นเกือบ 2.7 เท่าจากเมื่อ 10 ปีก่อน เนื่องจากมีเกษตรกรจำนวนมากหันมาปลูกมัทฉะมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ คาดว่าปริมาณผลผลิตในปีนี้จะลดลงจากปีก่อน
เกษตรกรรายหนึ่งในเกียวโตระบุว่า ปีนี้เขาเก็บเกี่ยวเทนฉะได้เพียง 1.5 ตัน ลดลง 25% จากระดับปกติที่ประมาณ 2 ตัน โดยให้เหตุผลว่าความร้อนจัดเมื่อปีก่อนทำลายต้นชา ส่งผลให้ไม่สามารถเก็บใบชาได้เท่าเดิม
ราคาประมูลเทนฉะในเมืองเกียวโตเมื่อเดือนพ.ค. พุ่งแตะ 8,235 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นถึง 170% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่าสถิติเดิมที่ 4,862 เยนเมื่อปี 2559 ตามข้อมูลจากสมาคมชาเขียวญี่ปุ่น
ด้านกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า มูลค่าการส่งออกชาเขียวของญี่ปุ่น (รวมถึงมัทฉะ) เพิ่มขึ้น 25% ในปี 2567 แตะ 3.64 หมื่นล้านเยน (252 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนปริมาณส่งออกโดยรวมเพิ่มขึ้น 16% โดยมีมัทฉะเป็นสินค้าหลักที่ผลักดันยอดขาย
มัทฉะได้รับความนิยมมากในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มองหาทางเลือกเพื่อสุขภาพ ทำให้ร้านกาแฟทั่วโลกต่างพากันเสนอเมนูมัทฉะ ด้วยคุณสมบัติที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และมีคาเฟอีนสูงกว่าชาเขียวทั่วไป มัทฉะจึงกลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยม โดยเฉพาะหลังจากกระแสในโซเชียลมีเดียช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีก่อนกลายเป็นไวรัล ส่งผลให้ความต้องการพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
บริษัททีไลฟ์ (Tealife) จากสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ค้าส่งมัทฉะรายหนึ่งเปิดเผยว่า ความต้องการมัทฉะจากลูกค้าเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าในปีที่แล้ว และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ปริมาณนำเข้าจากญี่ปุ่นจะลดลง พร้อมระบุว่าบริษัทแทบไม่มีสต๊อกสินค้าอยู่เลยในหลายช่วง และต้องจำกัดปริมาณการสั่งซื้อเป็นครั้งคราว
แม้ผู้ผลิตในญี่ปุ่นจะเร่งเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกเพื่อรองรับความต้องการ แต่ผู้ค้ารายหนึ่งเตือนว่า ไร่ชาใหม่ต้องใช้เวลากว่า 5 ปีกว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ส่งผลให้ปัญหาขาดแคลนในปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไป และมีแนวโน้มว่าราคาจะพุ่งสูงขึ้นอีก