GSMA เผยจีดีพีไทยมีศักยภาพเติบโตถึง 7.3 แสนล้านบาทด้วยโมบายบรอดแบนด์

ข่าวเทคโนโลยี Thursday May 7, 2015 17:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผลการวิจัยล่าสุดของสมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) พบว่า จีดีพีของไทยมีศักยภาพเติบโตสูงถึง 7.3 แสนล้านบาทภายในปี 2563 ผ่านนโยบายโมบายบรอดแบนด์ที่มีประสิทธิภาพ โดยนโยบายที่เอื้อหนุนสามารถกระตุ้นการส่งมอบผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสังคมจากโมบายบรอดแบนด์ พร้อมช่วยให้ไทยสามารถบรรลุนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

สมาคมจีเอสเอ็ม ได้เปิดเผยรายงานวิจัยล่าสุด ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของนโยบายของรัฐบาลไทยที่มีศักยภาพยกระดับการเข้าถึงโมบายบรอดแบนด์และฟิกซ์บรอดแบนด์ได้สูงถึง 133% ภายในปี 2563 (1) พุ่งขึ้น 52% ในปี 2556 การเติบโตดังกล่าวจะส่งผลให้จีดีพีของไทยพุ่งสูงรวมกันถึง 7.3 แสนล้านบาท ขณะที่การยกระดับการเข้าถึงโครงสร้างโมบายบรอดแบนด์พื้นฐานจะก่อให้เกิดการสร้างงานใหม่ๆ อีกทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบดิจิทัล และเร่งเดินหน้าสู่เป้าหมายตามนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลไทย

“โมบายบรอดแบนด์เป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของรัฐบาลไทย เพื่อเปลี่ยนประเทศให้เป็นเศรษฐกิจดิจิทัลและส่งเสริมเครือข่ายดิจิทัลในประเทศ ดังที่ระบุไว้ในแผนเศรษฐกิจดิจิทัล" มร.ทอม ฟิลลิปส์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับดูแลของสมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA)กล่าว “ผลประโยชน์ที่ได้จากการเข้าถึงโมบาย บรอดแบนด์นั้นมหาศาล ทั้งช่วยยกระดับผลิตภาพขับเคลื่อนการสร้างธุรกิจและตำแหน่งงานใหม่ๆที่ต้องใช้ทักษะ ตลอดจนเป็นช่องทางในการให้บริการดูแลสุขภาพและการเงินผ่านมือถือ และก่อให้เกิดระบบเมืองอัจฉริยะ ทั้งนี้ ไทยจะสามารถบรรลุศักยภาพของโมบายบรอดแบนด์ได้ ก็ต่อเมื่อมีการเปิดตัวระบบ 4G ควบคู่กับนโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สามารถแข่งขันได้อย่างแท้จริง ทรงพลัง และขับเคลื่อนด้วยการลงทุน"

“เราขอให้ทางคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลหันมาพิจารณาภาคเครือข่ายมือถือเป็นเครื่องมือสำคัญ สู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ" มร.ฟิลลิปส์ กล่าวต่อ “เนื่องจากมีชาวไทยและภาคธุรกิจเป็นเดิมพัน เราจึงไม่สามารถล้มเหลวได้"

สามารถรับชมรายงานฉบับเต็มได้ที่: http://www.gsma.com/spectrum/thailandsdigitaleconomy/

ทั้งนี้ สมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลก ซึ่งเชื่อมโยงผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เกือบ 800 ราย กับบริษัทมากกว่า 250 แห่งในระบบนิเวศการสื่อสารเคลื่อนที่ที่ครอบคลุมกว้างขึ้น ได้แก่ ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ บริษัทซอฟต์แวร์ ผู้ให้บริการอุปกรณ์ และบริษัทอินเทอร์เน็ต ตลอดจนองค์กรในภาคอุตสาหกรรมข้างเคียง นอกจากนี้ GSMA ยังเป็นผู้จัดงานระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรม อาทิ Mobile World Congress, Mobile World Congress Shanghai และ Mobile 360 Series


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ