ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เรียกเหตุการณ์ความตึงเครียดระหว่างอินเดียกับปากีสถานว่าเป็น "เรื่องที่น่าเสียดาย" หลังจากอินเดียได้ทำการโจมตี 9 เป้าหมายในปากีสถานและแคชเมียร์ในส่วนที่ปากีสถานปกครองในช่วงเช้าวันนี้ (7 พ.ค.)
การโจมตีของอินเดียดังกล่าวเป็นการตอบโต้เหตุการณ์ที่กลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์โจมตีในแคชเมียร์ในส่วนที่อินเดียปกครองเมื่อวันที่ 22 เม.ย. ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 26 ราย ขณะที่ทางปากีสถานก็ได้ประกาศว่าจะมีการตอบโต้ปฏิบัติการทางทหารของอินเดียเช่นกัน
อินเดียกล่าวหาว่า ปากีสถานเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ขณะที่ปากีสถานได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวและเรียกร้องให้มีการสอบสวนที่เป็นกลาง
"เป็นเรื่องที่น่าเสียดายนะ เราเพิ่งทราบเรื่องนี้เอง ผมว่าหลายคนคงพอจะเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจากเรื่องราวที่ผ่านมา พวกเขาก็สู้กันมานานแล้ว" ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาว
"ผมก็แค่หวังว่าเรื่องนี้จะจบลงเร็ว ๆ" ทรัมป์กล่าวเสริม
ด้านมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุผ่านเอ็กซ์ (X) ว่า เขากำลัง "จับตาสถานการณ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถานอย่างใกล้ชิด" พร้อมเสริมว่า วอชิงตันจะยังคงทำงานร่วมกับทั้งสองประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียที่มีอาวุธนิวเคลียร์ "เพื่อหาทางออกอย่างสันติ"
สถานทูตอินเดียในกรุงวอชิงตันได้แจ้งว่า อาจิต โดวัล ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของอินเดีย ได้พูดคุยกับรูบิโอและบรรยายสรุปให้ฟังเกี่ยวกับการปฏิบัติการทางทหารของอินเดีย
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แถลงว่ากำลังติดต่อประสานงานกับทั้งอินเดียและปากีสถานในหลายระดับชั้นของการทูต และรูบิโอก็ได้มีการพูดคุยทางโทรศัพท์กับทั้งสองประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วด้วย
ก่อนหน้านี้ ผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯ รวมถึงทรัมป์ ได้แสดงการสนับสนุนต่ออินเดียหลังจากเกิดเหตุการณ์โจมตีเมื่อวันที่ 22 เม.ย. แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ก็ไม่ได้กล่าวโทษปากีสถานโดยตรงว่าเป็นผู้ก่อเหตุโจมตีดังกล่าว
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้กระตุ้นให้ทั้งสองประเทศเพื่อนบ้านทำงานร่วมกันเพื่อลดความตึงเครียดและหาทางออก "อย่างมีความรับผิดชอบ"
เมื่อเดือนที่แล้ว ทรัมป์เคยกล่าวไว้ว่า อินเดียและปากีสถานจะจัดการเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกันได้เอง โดยเมื่อวันที่ 25 เม.ย. ทรัมป์กล่าวว่า "เดี๋ยวพวกเขาก็คงหาทางออกกันได้เอง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง"
อนึ่ง ดินแดนแคชเมียร์ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นพื้นที่ที่ทั้งอินเดีย (ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นฮินดู) และปากีสถาน (ซึ่งเป็นรัฐอิสลาม) ต่างอ้างกรรมสิทธิ์ว่าเป็นของตนเองทั้งหมด อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศก็ควบคุมดินแดนได้เพียงบางส่วนเท่านั้น และประเด็นเรื่องแคชเมียร์นี้เป็นสาเหตุให้ทั้งสองประเทศทำสงครามกันมาแล้วหลายครั้ง
ทั้งนี้ อินเดียเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ในการต้านทานอิทธิพลจีนที่เพิ่มขึ้นในเอเชีย ขณะที่ปากีสถานก็ยังคงเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ แม้บทบาทจะลดลงหลังสหรัฐฯ ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานในปี 2564
นักวิเคราะห์ได้ให้ความเห็นไว้เมื่อเดือนก่อนว่า รัฐบาลสหรัฐฯ อาจจะปล่อยให้อินเดียกับปากีสถานจัดการปัญหาความตึงเครียดระหว่างกันเองในช่วงแรก ๆ ของสถานการณ์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสหรัฐฯ เองก็มีปัญหามากมายอยู่แล้ว โดยเฉพาะการเข้าไปมีบทบาทในการพยายามหาทางออกทางการทูตให้กับสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในกาซา