โป๊ปเลโอเรียกร้องความสามัคคีในคริสตจักร ย้ำไม่ปกครองแบบเผด็จการ

ข่าวต่างประเทศ Monday May 19, 2025 10:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ทรงเริ่มสมณสมัยอย่างเป็นทางการเมื่อวันอาทิตย์ (18 พ.ค.) โดยในพิธีสถาปนาสมณศักดิ์กลางแจ้ง ณ ลานมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมราว 2 แสนคน พระองค์ทรงส่งสัญญาณประนีประนอมไปยังกลุ่มอนุรักษนิยมที่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้งในสมัยของโป๊ปองค์ก่อน พร้อมเรียกร้องความสามัคคี ให้คำมั่นว่าจะธำรงรักษามรดกคาทอลิก และจะไม่ปกครองแบบผู้นำเผด็จการ

โป๊ปเลโอทรงสืบตำแหน่งต่อจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ชาวอาร์เจนตินา ผู้สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 21 เม.ย. หลังดำรงตำแหน่งประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิกนาน 12 ปี สมัยของโป๊ปฟรานซิสเป็นที่รู้จักจากการสนับสนุนผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส แต่ก็ทรงเผชิญหน้ากับกลุ่มคริสตชนหัวเก่า (traditionalist) ทำให้คริสตจักรเกิดความแตกแยก โดยฝ่ายอนุรักษนิยมกล่าวหาว่าพระองค์สร้างความสับสนในประเด็นต่าง ๆ เช่น การสมรสของคนเพศเดียวกัน และใช้อำนาจอย่างเข้มงวด

สำหรับโป๊ปเลโอ พระองค์ทรงมีพระชนมายุ 69 พรรษา ประสูติที่เมืองชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐฯ และทรงถือสัญชาติเปรูหลังทรงงานเป็นมิชชันนารีในเปรูนานหลายปี ทำให้พระองค์เป็นโป๊ปองค์แรกที่ทั้งสองชาติถือเป็นพลเมืองของตน พระนามเดิม โรเบิร์ต พรีโวสต์ ค่อนข้างไม่เป็นที่รู้จักนักและเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัลเพียง 2 ปีก่อน พระองค์ได้รับเลือกเป็นโป๊ปองค์ที่ 267 เมื่อวันที่ 8 พ.ค. หลังการประชุมเลือกตั้งพระสันตะปาปา (คอนเคล็ฟ) ที่ใช้เวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง

ในบทเทศนาซึ่งพระองค์ทรงอ่านเป็นภาษาอิตาลีอย่างคล่องแคล่วระหว่างพิธีสถาปนา โป๊ปเลโอตรัสว่าจะทรงสานต่องานของโป๊ปฟรานซิสในประเด็นทางสังคม เช่น การต่อสู้กับความยากจนและการปกป้องสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงกลุ่มอนุรักษนิยม พระองค์ทรงเน้นย้ำถึงการธำรงไว้ซึ่ง "มรดกอันล้ำค่าแห่งศรัทธาของคริสตชน" และทรงเรียกร้องความสามัคคีหลายครั้ง โดยตรัสคำนี้ถึงเจ็ดหน

"ไม่ใช่การเอาชนะผู้อื่นด้วยกำลัง การโฆษณาชวนเชื่อทางศาสนา หรือด้วยอำนาจใด ๆ หากแต่เป็นเรื่องของความรักเสมอและเท่านั้น ดังเช่นที่พระเยซูทรงปฏิบัติ" โป๊ปเลโอตรัส

โป๊ปเลโอทรงเสริมในภายหลังโดยอ้างถึงนักบุญเปโตรว่า "เปโตรต้องดูแลฝูงแกะโดยไม่ยอมจำนนต่อสิ่งยั่วยวนที่จะเป็นผู้นำแบบเผด็จการ ที่จะใช้อำนาจเหนือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้อยู่ในความดูแล ในทางตรงกันข้าม เขาถูกเรียกมาเพื่อรับใช้ศรัทธาของพี่น้อง และเพื่อเดินเคียงข้างพวกเขา"

นับตั้งแต่ทรงได้รับเลือกเป็นสมเด็จพระสันตะปาปา โป๊ปเลโอได้ทรงแสดงให้เห็นถึงประเด็นสำคัญที่พระองค์จะทรงให้ความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งรวมถึงการรับมือกับภัยจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการสร้างสันติภาพให้แก่โลกและคริสตจักร ในคำวิงวอนระหว่างพิธีมิสซา พระองค์ทรงเรียกยูเครนว่า "ดินแดนที่บอบช้ำอย่างหนัก" และทรงเรียกร้อง "สันติภาพที่ยุติธรรมและยั่งยืน" ทั้งยังทรงเน้นย้ำถึงวิกฤตมนุษยธรรมในกาซาที่ผู้คนกำลัง "เผชิญภาวะอดอยาก"

พิธีมิสซาสถาปนามีผู้นำระดับโลกเข้าร่วมหลายสิบคน อาทิ เจดี แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และเคยมีความเห็นไม่ลงรอยกับโป๊ปฟรานซิสเรื่องผู้อพยพ ได้นำคณะผู้แทนจากสหรัฐฯ เข้าร่วม โดยแวนซ์ได้จับมือทักทายกับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนเป็นเวลาสั้น ๆ ทั้งสองมีกำหนดการเข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์แยกกัน นอกจากนี้ยังมีประธานาธิบดีอิสราเอล, เปรู และไนจีเรีย รวมถึงผู้นำจากอิตาลี, แคนาดา, ออสเตรเลีย, เยอรมนี และคณะกรรมาธิการยุโรปเข้าร่วมด้วย

ในส่วนหนึ่งของพิธี โป๊ปเลโอทรงรับมอบผ้าปัลลิอุม (Pallium) ซึ่งเป็นผ้าคล้องพระศอทำจากขนแกะ อันเป็นสัญลักษณ์ถึงบทบาทของพระองค์ในฐานะผู้เลี้ยงดูฝูงแกะ (คริสตศาสนิกชน) และ "แหวนชาวประมง" ซึ่งรำลึกถึงนักบุญเปโตร แหวนทองคำสำหรับพิธีนี้ ซึ่งหล่อขึ้นเป็นพิเศษสำหรับโป๊ปแต่ละพระองค์ แสดงภาพนักบุญเปโตรถือกุญแจสวรรค์ และจะถูกทำลายลงเมื่อโป๊ปเลโอสิ้นพระชนม์หรือสละตำแหน่ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ