จับตาสภาผู้แทนฯสหรัฐลงมติร่างกม.ภาษีคืนนี้ หลังทบทวนแก้ไขหวังเรียกเสียงสนับสนุน

ข่าวต่างประเทศ Thursday May 22, 2025 18:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเตรียมลงมติต่อร่างกฎหมายภาษีและงบประมาณรายจ่ายในวันนี้ (22 พ.ค.) ก่อนวันหยุด Memorial Day ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เพื่อปูทางให้วุฒิสภาพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ในเดือนมิ.ย.

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เป็นผู้ผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเขาเรียกว่าเป็น "ร่างกฎหมายที่ยิ่งใหญ่และมีความสวยงาม"

ร่างกฎหมายที่จะมีการลงมติในวันนี้ ได้รับการปรับปรุงใหม่เมื่อวานนี้ โดยมีการเพิ่มเพดานการหักภาษีของมลรัฐและท้องถิ่น (SALT) สู่ระดับ 40,000 ดอลลาร์ สำหรับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 500,000 ดอลลาร์ต่อปี เพื่อหวังได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรครีพับลิกันที่ไม่พอใจต่อร่างกฎหมายฉบับเดิม

ทั้งนี้ เมื่อผู้เสียภาษีในสหรัฐยื่นแบบแสดงภาษีรายได้ต่อกรมสรรพากร พวกเขาสามารถหักภาษีที่จ่ายให้กับมลรัฐและท้องถิ่นออกจากรายได้พึงประเมิน ซึ่งจะช่วยลดจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายให้แก่รัฐบาลกลาง

ก่อนหน้านี้ ในปี 2560 ภายใต้กฎหมายปฏิรูปภาษีของปธน.ทรัมป์ขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก กฎหมายดังกล่าวได้จำกัดการหักภาษี SALT ไว้ไม่เกิน 10,000 ดอลลาร์ต่อปี ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในรัฐที่มีภาษีสูง เช่น แคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก และนิวเจอร์ซีย์ เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถหักภาษีท้องถิ่นได้เต็มจำนวนอีกต่อไป

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้จะเร่งกระบวนการตัดวงเงินในโครงการ Medicaid และยกเลิกการลดหย่อนภาษีพลังงานสะอาดในสมัยของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์นิยมสายเหยี่ยว

เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวรายหนึ่งกล่าวว่า ปธน.ทรัมป์ให้การสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับที่ได้รับการแก้ไขดังกล่าว แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอที่จะผ่านสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากเพียงเล็กน้อย และสามารถสูญเสียคะแนนเสียงได้เพียงไม่กี่เสียงเท่านั้น

ร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติในวันนี้ ถือเป็นการสานต่อกฎหมายปฏิรูปภาษีปี 2560 ซึ่งเป็นผลงานสำคัญของปธน.ทรัมป์ขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก แต่นักวิเคราะห์เตือนว่า การปรับลดอัตราภาษีครั้งใหม่จะทำให้รัฐบาลสหรัฐมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นอีก 3-5 ล้านล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 36.2 ล้านล้านดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ