จับตาเลือกตั้งสว.ญี่ปุ่น พรรคการเมืองชูนโยบายชาวต่างชาติเรียกคะแนนโหวต

ข่าวต่างประเทศ Tuesday July 15, 2025 11:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แม้ผลการสำรวจความคิดเห็นล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับปัญหาเศรษฐกิจปากท้องมากที่สุด โดยเฉพาะราคาอาหารและน้ำมันที่สูงขึ้น แต่เป็นที่น่าจับตาว่า ประเด็นเกี่ยวกับชาวต่างชาติกำลังเป็นหนึ่งในนโยบายที่บรรดาพรรคการเมืองญี่ปุ่นหยิบยกมาช่วงชิงคะแนนในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ ท่ามกลางจำนวนชาวต่างชาติที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทั้งมาเที่ยว มาทำงาน และลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

พรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ของนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ มีจุดยืนที่เข้มงวดมากขึ้นกว่าการหาเสียงในอดีต โดยพรรคชูนโยบาย "ชาวต่างชาติผิดกฎหมายเป็นศูนย์" ด้วยการตรวจสอบประวัติบุคคลอย่างเข้มงวดก่อนอนุญาตให้เข้าประเทศ ขณะเดียวกัน นายกฯ อิชิบะเน้นย้ำว่า ญี่ปุ่นจำเป็นต้องมีแรงงานต่างชาติที่ถูกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการลดลงของประชากร

ด้านพรรครัฐธรรมนูญประชาธิปไตย (CDP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก สนับสนุนการมีแรงงานต่างชาติมากขึ้น โยชิฮิโกะ โนดะ หัวหน้าพรรค ย้ำว่า ญี่ปุ่นต้องการแรงงานต่างชาติเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคน โดยเฉพาะในภาคการพยาบาลและการดูแลเด็ก นอกจากนี้ พรรคมีแนวคิดสนับสนุนสังคมหลากหลายวัฒนธรรม ต้อนรับชาวต่างชาติและครอบครัวให้มาทำงาน เรียนรู้ และอยู่ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นได้

ขณะที่พรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน (DPP) ไม่ต่อต้านแรงงานต่างชาติ พร้อมสนับสนุนการฝึกอบรมภาษาญี่ปุ่นสำหรับเด็กต่างชาติ ช่วยเหลือพวกเขาให้ปรับตัวเข้ากับชีวิตในญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ยูอิจิโระ ทามากิ หัวหน้าพรรค สนับสนุนให้มีการกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดขึ้นสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพื่อควบคุมราคาอสังหาฯ ตามเมืองใหญ่ของญี่ปุ่น

ส่วนพรรคซันเซโตะ (Sanseito) ซึ่งมีแนวคิดชาตินิยม ถือเป็นพรรคที่มีจุดยืนแข็งกร้าวที่สุด โซเฮ คามิยะ หัวหน้าพรรค เรียกร้องให้ยุติการสนับสนุนสวัสดิการสำหรับชาวต่างชาติ ห้ามจ้างชาวต่างชาติทำงานในภาครัฐ จำกัดจำนวนแรงงานและนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ และทำให้การโอนสัญชาติหรือการได้รับถิ่นที่อยู่ถาวรของชาวต่างชาติยากขึ้น

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ประเด็นชาวต่างชาติเป็นที่ถกเถียงและได้รับความสนใจในสังคมญี่ปุ่นมากขึ้นนั้น ผู้เชี่ยวชาญมองว่ามีหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยพรรคฝ่ายค้านสายอนุรักษนิยมขนาดเล็กกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น พรรคซันเซโตะซึ่งมีนโยบาย "ญี่ปุ่นต้องมาก่อน" และสนับสนุนการควบคุมชาวต่างชาติอย่างเข้มงวด ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองในการสำรวจความคิดเห็นของสื่อบางแห่ง สวนทางกับพรรครัฐบาลที่ได้รับคะแนนสนับสนุนลดลง

นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางสังคม เช่น การขับขี่อันตรายและการใช้บริการสาธารณะอย่างไม่เหมาะสมของชาวต่างชาติ ได้กระตุ้นความไม่พอใจในหมู่ชาวญี่ปุ่นบางส่วน ขณะเดียวกัน การอนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในโตเกียว ทำให้ราคาอสังหาฯ ในเมืองหลวงและเมืองใหญ่อื่น ๆ พุ่งสูงจนยากที่คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่จะหาซื้อได้

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2567 ระบุว่า มีแรงงานต่างชาติประมาณ 2.3 ล้านคนในญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นเกือบ 254,000 คนจากปีก่อนหน้า ในจำนวนนี้ 24.8% มาจากเวียดนาม, 17.8% มาจากจีน และ 10.7% มาจากฟิลิปปินส์ ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 37 ล้านคนในปี 2567 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด และจำนวนชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ 3.77 ล้านคน ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด

คิอุจิ ทาคาฮิเดะ นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยโนมูระ กล่าวว่า แม้จำเป็นต้องจัดการกับสถานการณ์ที่ชาวต่างชาติบางคนก่ออาชญากรรม สร้างความรำคาญ หรือใช้ระบบสาธารณะในทางที่ผิด ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกไม่สบายใจและความไม่ยุติธรรมในหมู่ประชาชน แต่ในขณะเดียวกัน การส่งเสริมการอยู่ร่วมกันกับชาวต่างชาติก็มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ