สหรัฐประกาศถอนตัวจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ในวันนี้ เพียง 2 ปีหลังจากกลับเข้าร่วมอีกครั้ง
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐชี้แจงเหตุผลของการถอนตัวในครั้งนี้ โดยระบุว่า สหรัฐเห็นว่ายูเนสโกมุ่งส่งเสริมประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรมที่สร้างความแตกแยกจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์
"การตัดสินใจของยูเนสโกที่รับรองรัฐปาเลสไตน์ให้เป็นสมาชิกเต็มรูปแบบนั้น ถือเป็นปัญหาสำคัญ และขัดต่อจุดยืนของสหรัฐ รวมทั้งส่งผลให้เกิดการเผยแพร่วาทกรรมต่อต้านอิสราเอลในองค์กรนี้มากขึ้น" แถลงการณ์ระบุการถอนตัวของสหรัฐจะมีผลอย่างเป็นทางการในช่วงสิ้นเดือนธ.ค.2569
ทางด้านยูเนสโกออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อการตัดสินใจของสหรัฐ
นางออเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโก ระบุในแถลงการณ์ว่า "แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แต่เราก็คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว และยูเนสโกได้เตรียมการรับมือไว้แล้ว"
ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ที่สหรัฐถอนตัวจากยูเนสโก และเป็นครั้งที่ 2 ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ที่เริ่มดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เมื่อต้นปีนี้ ปธน.ทรัมป์ได้ประกาศถอนตัวจากองค์กรระดับโลกหลายแห่ง ได้แก่ องค์การอนามัยโลก (WHO), คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) และความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ที่ผ่านมา สหรัฐมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับยูเนสโกมาโดยตลอด และมักประกาศถอนตัวด้วยเหตุผลทางการเมือง
ในปี 2527 รัฐบาลของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ได้ประกาศถอนตัวออกจากยูเนสโก โดยกล่าวหาว่ามีแนวคิดฝักใฝ่สหภาพโซเวียตและต่อต้านชาติตะวันตก ส่งผลให้สหรัฐถอนตัว และไม่ได้กลับเข้าร่วมอีกจนถึงปี 2546
ต่อมา ในปี 2554 รัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ระงับการให้เงินสนับสนุนยูเนสโก หลังจากที่ยูเนสโกลงมติรับรองปาเลสไตน์เป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ