เซเลนสกีเซ็นกฎหมายคุมเข้มหน่วยงานต้านโกง จุดชนวนประท้วงใหญ่ในยูเครน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 23, 2025 14:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รัฐสภายูเครนผ่านร่างกฎหมายแก้ไขที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเมื่อวันอังคาร (22 ก.ค.) ซึ่งเป็นการลิดรอนความเป็นอิสระของหน่วยงานต่อต้านการทุจริต 2 แห่งที่สำคัญของประเทศ และเพิ่มอำนาจควบคุมโดยตรงให้อยู่ภายใต้อัยการสูงสุดที่มาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ซึ่งประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ลงนามรับรองในช่วงค่ำวันเดียวกัน ได้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่รัสเซียรุกรานเต็มรูปแบบในปี 2565 พร้อมเสียงวิจารณ์อย่างรุนแรงจากสหภาพยุโรป (EU) และผู้นำหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากถูกมองว่าเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความพยายามในการปราบปรามการทุจริต ซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักในการเข้าเป็นสมาชิก EU และการรับเงินช่วยเหลือจากชาติตะวันตก

ปธน.เซเลนสกี ซึ่งพรรคของเขาครองเสียงข้างมากในสภา กล่าวปกป้องการตัดสินใจนี้ในการแถลงการณ์ผ่านวิดีโอประจำวัน โดยระบุว่าได้พูดคุยกับผู้นำหน่วยงานแล้ว และยืนยันว่าหน่วยงานจะยังคงทำงานต่อไป "แต่ต้องปราศจากอิทธิพลใด ๆ จากรัสเซีย ทุกอย่างต้องถูกชำระล้างให้หมดจด"

"เราต้องมีความยุติธรรมมากขึ้น แน่นอนว่า NABU (สำนักงานปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) และ SAPO (สำนักงานอัยการพิเศษเพื่อการต่อต้านการทุจริต) จะยังคงทำงานของพวกเขาต่อไป" เซเลนสกีกล่าว "และเป็นเรื่องสำคัญเช่นกันที่อัยการสูงสุดจะต้องมุ่งมั่นสร้างหลักประกันว่าผู้ที่กระทำผิดกฎหมายจะต้องรับผิดอย่างแท้จริง นี่คือสิ่งที่ยูเครนต้องการอย่างแท้จริง"

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เซเมน ครีโวโนส ผู้อำนวยการ NABU ได้เรียกร้องให้ปธน.เซเลนสกีไม่ลงนามในร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยเรียกมันว่าเป็นความพยายามที่จะ "ทำลายล้าง" โครงสร้างพื้นฐานด้านการต่อต้านการทุจริตของยูเครน

ด้านมาร์ตา คอส กรรมาธิการยุโรปด้านการขยายสมาชิกภาพ แสดงความเห็นผ่าน X ว่าเธอ "กังวลอย่างยิ่ง" ต่อการลงมติที่เกิดขึ้น "การรื้อถอนกลไกสำคัญที่คุ้มครองความเป็นอิสระของ NABU ถือเป็นก้าวถอยหลังที่ร้ายแรง" เธอกล่าว พร้อมเสริมว่าหลักนิติธรรมคือ "หัวใจสำคัญอย่างแท้จริง" ของการเจรจาเพื่อเข้าเป็นสมาชิก EU

ผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีคือราคาพันธบัตรรัฐบาลยูเครนในตลาดต่างประเทศที่ร่วงลงกว่า 2% ขณะที่ช่วงค่ำวันอังคาร ชาวยูเครนหลายร้อยคนได้ออกมารวมตัวประท้วงใกล้ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงเคียฟ ขณะที่มีการเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันในอีกหลายเมือง

การลงมติครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติเข้าจับกุมเจ้าหน้าที่ NABU สองรายในข้อหาต้องสงสัยว่ามีความเชื่อมโยงกับรัสเซีย

สำหรับ NABU และ SAPO ได้ก่อตั้งขึ้นหลังการปฏิวัติไมดานในปี 2557 เพื่อผลักดันยูเครนสู่แนวทางตะวันตก โดยในช่วงสงครามที่ผ่านมา ทั้งสองหน่วยงานได้ทำงานเชิงรุกและตั้งข้อกล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายราย รวมถึงรัฐมนตรีและอดีตรองหัวหน้าคณะทำงานของปธน.เซเลนสกี

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลยูเครนยังเผชิญเสียงวิจารณ์จากการปฏิเสธผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนของ NABU และได้รับเสียงสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการคัดเลือกที่มีตัวแทนจากนานาชาติร่วมกำกับดูแล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ