Roundup: อิหร่านแซงหน้าซีเรียขึ้นแท่นประเด็นร้อนในการประชุมประจำปีของยูเอ็น

ข่าวต่างประเทศ Tuesday September 24, 2013 15:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประเด็นอิหร่านดูจะกลายเป็นประเด็นหลักในการประชุมสามัญประจำปีของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งจะจัดขึ้นที่นิวยอร์ก

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆอีก ซึ่งได้แก่ประเด็นซีเรีย ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ภาวะโลกร้อน อีกทั้งเรื่องการสอดแนมในโลกไซเบอร์

ก่อนที่การประชุมสามัญจะเปิดฉากขึ้นในวันนี้ หลายๆฝ่ายต่างเชื่อว่าประเด็นความขัดแย้งในซีเรีย ซึ่งได้ดำเนินมากว่า 2 ปีครึ่ง และได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 100,000 ราย พร้อมทั้งส่งผลให้ประชาชนอีก 6 ล้านคนต้องย้ายที่อยู่อาศัย จะกลายเป็นประเด็นหลัก

แต่วิธี "เรียกคะแนน" ทางการทูตของอิหร่านต่อสหประชาชาตินั้น ได้เบียดประเด็นซีเรียออกไป

การออกมาแสดงความคิดเห็นในทางบวกที่ผ่านมาระหว่างนายฮัสซาน รูฮานี ประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่าน และบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการผ่อนปรนนโยบายต่างประเทศของอิหร่าน

นายรูฮานีมีกำหนดการกล่าวแถลงการณ์กับทางสมัชชาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการกล่าวแถลงการณ์ให้การต้อนรับจากโอบามา ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายจะได้พบปะกัน

นอกจากนี้ นายจาวาด ซารีฟ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศคนใหม่อิหร่าน และอดีตทูตสหประชาชาติที่ได้รับการยอมรับนับถือ เร่งดำเนินการทางการทูตทันทีเมื่อวานนี้ โดยได้เข้าประชุมเพื่อหารือกับนางแคทเธอรีน แอชตัน หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) และนายวิลเลียม เฮก รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ

นายซารีฟยังมีกำหนดการเข้าพบนายจอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐในสัปดาห์นี้อีกด้วย รวมถึงรัฐมนตรีจากประเทศสำคัญอื่นๆที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อพูดคุยถึงโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน

การร่วมหารือในครั้งนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณเพื่อเริ่มต้นการเจรจาในประเด็นดังกล่าวอีกครั้งอย่างมีนัยสำคัญ

5 ประเทศสมาชิกถาวร (P5) ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและเยอรมนี ได้พยายามเรียกร้องให้อิหร่านกลับมาเจรจาในเรื่องโครงการนิวเคลียร์มาโดยตลอด ซึ่งทางอิหร่านเองก็ต้องเผชิญกับการคว่ำบาตรของคณะมนตรีความมั่นคงเช่นกัน

กลุ่มประเทศ P5 +1 ต่างรู้สึกวิตกกังวลว่าการผลิตวัสดุฟิสไซล์ของอิหร่านนั้น ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสันติ แต่มีเป้าหมายเพื่อใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์

ซึ่งทางอิหร่านก็ได้ออกมาปฏิเสธอย่างหนักแน่น แต่ก็อนุญาตให้สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ของยูเอ็นเข้ามาตรวจสอบได้ในวงจำกัด

อย่างไรก็ตาม ประเด็นความขัดแย้งในซีเรียยังคงมีความสำคัญอยู่ในระดับสูง แต่เมื่อพิจารณาจากการหารือทางการทูต เรื่องนี้ยังดูเลื่อนลอย เนื่องจากรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ และนายเซอร์ไก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย ไม่มีกำหนดการจัดการเจรจาร่วมกันอีกจนถึงช่วงปลายสัปดาห์นี้

สหรัฐต้องการมติที่แข็งกร้าวเพื่อบังคับให้ซีเรียปฏิบัติตามข้อตกลง หลังจากที่ได้เข้าร่วมองค์การเพื่อการห้ามใช้อาวุธเคมี (OPCW) เพื่อเปิดเผยข้อมูลคลังอาวุธเคมีเพื่อให้ประชาคมโลกเข้าตรวจสอบและทำลาย

รัฐบาลซีเรียได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่อ้างว่าซีเรียเป็นฝ่ายที่ใช้อาวุธเคมี ซึ่งฝ่ายรัสเซียเองเห็นด้วยกับรัฐบาลซีเรียโดยชี้ถึงหลักฐานที่ระบุว่าฝ่ายต่อต้านเป็นผู้บงการ ในขณะที่ทางสหรัฐก็มีหลักฐานที่ชี้ว่ารัฐบาลซีเรียเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลัง

คณะผู้ตรวจสอบของยูเอ็นได้ออกมายืนยันว่ามีการใช้อาวุธเคมีเมื่อวันที่ 21 ส.ค.เกิดขึ้นจริงในซีเรีย แต่ไม่ได้ระบุว่าฝ่ายใดเป็นผู้บงการ

นอกจากนี้ ประเด็นใหม่ที่น่าเป็นห่วงในปีนี้ได้แก่การสอดแนมในโลกไซเบอร์ ซึ่งส่งผลกระทบกับหลายๆประเทศ

และยังมีปัญหาใหม่ในการประชุมประจำปีนี้อีกอย่างหนึ่ง ว่าทางสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดการประชุมระดับนานาชาติที่สำนักงานใหญ่ของยูเอ็น ณ มหานครนิวยอร์ก จะออกวีซ่าให้นายโอมาร์ อัล-บาชีร์ ประธานาธิบดีซูดานหรือไม่ หลังจากที่ผู้นำซูดานได้รับเชิญให้เป็นผู้บรรยายในการประชุม เนื่องจากนายโอมาร์กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินคดีของศาลอาชญากรโลกว่าด้วยประเด็นความขัดแย้งในแคว้นดาร์ฟัวร์

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงก็คือเขาจะได้รับความคุ้มครองทางการทูตหรือไม่ โดยทางกระทรวงต่างประเทศสหรัฐรับทราบคำร้องขอดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ได้ระบุว่าจะอนุมัติหรือไม่

วิลเลียม เอ็ม เรลลี สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ