Commentary: ซินหัวชี้ AIIB เป็นเครื่องมือทางการเงิน ไม่ใช่เครื่องมือทางการเมือง

ข่าวการเมือง Wednesday March 25, 2015 09:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รัฐบาลออสเตรเลียได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจเรื่องธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) โดยมีความเป็นไปได้สูงที่ออสเตรเลียจะตัดสินใจเข้าร่วมการก่อตั้งธนาคารดังกล่าวในฐานะประเทศสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง ซึ่งจะทำให้ออสเตรเลียเป็นประเทศพันธมิตรของสหรัฐรายล่าสุดที่อ้าแขนรับสถาบันการเงินที่จีนเป็นผู้เสนอ

ทั้งนี้ เชื่อกันว่าออสเตรเลียได้ตัดสินใจเรื่องดังกล่าว ภายหลังบรรดารัฐมนตรีระดับสูงได้เริ่มหารือกันว่าออสเตรเลียควรจะทบทวนจุดยืนก่อนหน้านี้หรือไม่ และจะเดินรอยตามอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี เพื่อเข้าร่วมกับ AIIB ในฐานะประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งหรือไม่

เมื่อปีที่แล้ว ออสเตรเลีย รวมถึงสหรัฐ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เคยปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุน AIBB โดยอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับมาตรฐานด้านธรรมาภิบาล ความโปร่งใส สภาพแวดล้อม และความรับผิดชอบของธนาคาร

สื่อออสเตรเลียสนับสนุนการตัดสินใจของรัฐบาลออสเตรเลียที่จะเข้าร่วมจัดตั้งธนาคาร แต่ถึงกระนั้น แทนที่จะอธิบายให้ผู้อ่านทราบว่า AIIB จะเป็นประโยชน์กับออสเตรเลียอย่างไรบ้าง สื่อกลับไปมุ่งเน้นที่นัยทางการเมืองของ AIIB และผลกระทบที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ ออสเตรเลีย และจีนมากกว่า

นสพ.ดิ ออสเตรเลียนชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงท่าทีของรัฐบาลออสเตรเลียถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของคณะทำงานของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในแง่ของความสัมพันธ์ทางการทูตกับเอเชียที่ถดถอยและไร้ซึ่งความสามารถ

มุมมองดังกล่าวได้มองข้ามกระแสการตอบรับที่ทั่วโลกมีต่อ AIIB แม้กระทั่งประเทศพันธมิตรของสหรัฐเองก็ควรจะมีส่วนในการออกแบบธนาคารให้เป็นสถาบันการเงินระดับพหุภาคี โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย และช่วยให้ประเทศต่างๆมีงบดุลที่ดี ด้วยโอกาสทางธุรกิจในภูมิภาคที่ขยายตัวรวดเร็วที่สุดในโลก

ข้อมูลสถิติจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ชี้ว่า ในช่วงปี 2553 - 2563 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องการเงินลงทุนประมาณ 8 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ระบบขนส่ง พลังงาน และโทรคมนาคม

กัว เฉิงเซียง นักเศรษฐศาสตร์มหภาคของสถาบัน Australian Institute of Innovative Finance กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้เป็นเพียงภารกิจของประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับประเทศพัฒนาแล้วด้วยเช่นกัน เนื่องจากประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องพัฒนาโครงการพื้นฐานที่มีอยู่เดิมและล้าสมัยไปแล้ว

นายกัวกล่าวว่า ข้อมูลจากรัฐบาลออสเตรเลียชี้ให้เห็นว่า ออสเตรเลียจำเป็นต้องใช้เงินประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ระบบขนส่ง ชลประทานในชนบท และอื่นๆ

ปีเตอร์ ดรายส์เดล หัวหน้าหน่วยงาน East Asian Bureau of Economic Research ของ ANU กล่าวว่า ออสเตรเลียและประเทศต่างๆทั่วทั้งภูมิภาคจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการลงทุนผ่านทาง AIIB เนื่องจากเป็นการลงทุนเพื่อการพัฒนาโครงการพื้นฐาน ซึ่งจำเป็นสำหรับการรักษาระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค

ทั้งนี้ AIIB ไม่ใช่คู่แข่งของ ADB และธนาคารโลกแต่อย่างใด

สำหรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในเอเชียที่ขาดดุลอยู่ถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์นั้น ADB เองสามารถปล่อยกู้ในส่วนนี้ได้เพียงประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี

สหรัฐตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับมาตรฐานธรรมาภิบาลของ AIIB และได้เน้นย้ำความสำคัญของสถาบันการเงินระดับพหุภาคีอย่างธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในฐานะตัวแทนที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในระบบการเงินโลกปัจจุบัน แต่ถึงกระนั้นสถาบันเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะปราศจากปัญหา

การปฏิรูปเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในสถาบันเหล่านี้นั้น จะสะท้อนให้เห็นว่าภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงของโลกนั้นได้ถูกปิดกั้นจากสภาคองเกรสสหรัฐตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประเทศเศรษฐกิจอื่นๆเช่นกัน

จีนมีใจที่เปิดกว้างเกี่ยวกับการต้อนรับประเทศสมาชิกเข้าสู่ AIIB แม้การเปิดรับประเทศสมาชิกใหม่ๆ จะทำให้ส่วนแบ่งของจีนในธนาคารแห่งนี้ลดลงก็ตาม และแน่นอนว่า การได้ประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินอย่างอังกฤษและออสเตรเลียเข้ามามีส่วนร่วมในธนาคาร จะช่วยปรับปรุงมาตรฐานของธนาคารในหลายด้านด้วยกัน

ในขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตการเงินนั้นยังคงเปราะบางและไม่เสถียร ดังนั้น ประเทศต่างๆจึงย่อมต้องคว้าโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของตน ในแนวทางที่รวดเร็วและยั่งยืน

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่มีการพูดถึงกันอย่างมากมายเกี่ยวกับการเข้าร่วม AIIB แม้แต่ประเทศที่มีความเป็นไปได้น้อยที่สุดที่จะเข้าร่วมอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐ

หากละทิ้งแนวความคิดแบบสงครามเย็น แล้วมาร่วมกันพัฒนาเอเชีย และผลักดันการขยายตัวของโลก ก็คงไม่มีเหตุผลใดที่สหรัฐและญี่ปุ่นจะปฏิเสธ AIIB

ซู ไห่จิง จากสำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ