"ทรัมป์" เตรียมลงนามคำสั่งปธน.ใหม่ เล็งแก้ไขปัญหาภาษี,กม.ดอดด์-แฟรงค์

ข่าวการเมือง Friday April 21, 2017 11:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เตรียมลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีฉบับใหม่ ซึ่งจะมอบหมายให้กระทรวงการคลังหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องภาษีและกฏหมายดอดด์-แฟรงค์ (Dodd-Frank Wall Street Reform and Consumer Protection Act) ซึ่งเป็นกฏหมายที่รัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เคยใช้กู้วิกฤตการณ์ทางการเงินในอดีต

ในส่วนของกฏหมายดอดด์-แฟรงค์ ปธน.ทรัมป์เตรียมสั่งทบทวนเนื้อหาในสองส่วนด้วยกัน ส่วนแรกได้แก่หน่วยงานขายทอดกิจการอย่างเป็นระเบียบ (Orderly Liquidation Authority) ซึ่งดูแลในเรื่องความเสียหายจากการล้มละลาย และอีกส่วนได้แก่สภากำกับดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (FSOC) ซึ่งเป็นหน่วยงานสูงสุดที่ตั้งขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติการเงินซ้ำรอย

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานข่าวที่ว่า นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังของสหรัฐเปิดเผยว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับแผนปฏิรูประบบภาษีครั้งใหญ่ในเร็วๆนี้ ขณะเดียวกันก็แสดงความหวังด้วยว่า แผนปฎิรูปดังกล่าวจะสามารถผ่านความเห็นชอบในสภาคองเกรสเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายภายในปีนี้

ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างการประชุมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกในกรุงวอชิงตันนั้น นายมนูชิน เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังสหรัฐกำลังทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำในการร่างแผนปฏิรูปภาษี ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐได้เป็นอย่างมาก

ขุนคลังสหรัฐยืนยันด้วยว่า รัฐบาลของทรัมป์จะผลักดันแผนปฏิรูปภาษีอย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่ารัฐบาลอาจคว้าน้ำเหลวในการผลักดันกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่เพื่อแทนที่กฎหมายโอบามาแคร์ของรัฐบาลชุดก่อนก็ตาม

"ไม่ว่ารัฐบาลจะประสบความสำเร็จในการปฏิรูประบบประกันสุขภาพหรือไม่ก็ตาม เราจะยังคงเดินหน้าผลักดันการปฏิรูปด้านภาษีให้สำเร็จลุล่วง" นายมนูชิน กล่าวเสริม

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีคลังสหรัฐไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนปฏิรูปดังกล่าว เพียงแต่กล่าวว่า ถึงแม้แผนการปรับลดภาษีของทรัมป์อาจส่งผลให้รัฐบาลมีรายได้น้อยลง ทว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐได้เป็นอย่างดี และจะมอบผลตอบแทนกลับคืนอย่างมหาศาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ