ที่ประชุม UNSC ถกประเด็นที่ราบสูงโกลัน สะท้อนมุมมองขัดแย้งระหว่างสหรัฐและชาติสมาชิก

ข่าวการเมือง Thursday March 28, 2019 10:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ได้จัดการประชุมฉุกเฉินเมื่อวานนี้ตามเวลาสหรัฐ เพื่ออภิปรายประเด็นที่ราบสูงโกลัน โดยการประชุมสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างสหรัฐและชาติสมาชิกรายอื่นๆ หลังจากที่สหรัฐได้กลับลำนโยบายที่มีมานานหลายทศวรรษ ด้วยการรับรองให้ที่ราบสูงโกลันเป็นดินแดนของอิสราเอล

"แถลงการณ์ของปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ เกี่ยวกับที่ราบสูงโกลันสะท้อนให้เห็นถึงการรับรองสถานการณ์พิเศษ ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะยอมรับอำนาจอธิปไตยของอิสราเอลในขณะนี้" นายรอดนีย์ ฮันเตอร์ ผู้ประสานงานฝ่ายการเมืองของสหรัฐกล่าวในช่วงเปิดการประชุมฉุกเฉินของ UNSC ซีเรียเป็นผู้เรียกร้องให้จัดขึ้น

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า อิสราเอลยึดได้ดินแดนดังกล่าวมาจากซีเรียในช่วงสงครามอาหรับ-อิสราเอลในปี 2510 และประกาศอ้างสิทธิ์ในการผนวกดินแดนปี 2524 โดยปธน.ทรัมป์ได้ลงนามรับรองอย่างเป็นทางการว่า สหรัฐยอมรับให้ที่ราบสูงโกลันเป็นดินแดนของอิสราเอล

นายฮันเตอร์กล่าวว่า "สหรัฐสนับสนุนเป้าหมายในการปกป้องและรักษาสันติภาพอันยาวนานระหว่างอิสราเอลและประเทศเพื่อนบ้านซึ่งรวมถึงซีเรีย สันติภาพดังกล่าวควรบรรลุเป้าหมายโดยการอภิปรายกันโดยตรง โดยขณะนี้อิสราเอลไม่มีพันธมิตรด้านสันติภาพในซีเรีย"

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการอ้างสิทธิ์ของอิสราเอลไม่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ทำให้ทั้งบรรดาพันธมิตรและฝ่ายตรงข้ามของสหรัฐต่างวิจารณ์นโยบายดังกล่าวของสหรัฐ โดยทูตจากรัสเซียและจีนมองว่า การตัดสินใจดังกล่าวของสหรัฐเป็นการกระทำฝ่ายเดียวซึ่งจะมีผลกระทบต่อภูมิภาค แม้รัสเซียเองก็เคยถูกวิจารณ์จากการอ้างสิทธิในไครเมียเมื่อปี 2557

"การดำเนินการดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังละเมิดฉันทามติของ UNSC ด้วย" นายวลาดิเมียร์ ซาฟรอนคอฟ ผู้ช่วยเอกอัคราชทูตรัสเซียกล่าวภายหลังการประชุม UNSC ซึ่งใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง

ทางด้านนายอู๋ ไห่เถา ผู้ช่วยเอกอัคราชทูตของจีนกล่าวว่า "ที่ราบสูงโกลันได้รับการรับรองจากประชาคมโลกในฐานะดินแดนที่ถูกยึดครอง และจีนขอคัดค้านการตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว หรือความพยายามใดๆก็ตามที่จะบิดเบือนความจริง" ก่อนหน้านี้ ประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐจำนวน 5 ประเทศไม่เห็นด้วยต่อกรณีที่ปธน.ทรัมป์รับรองให้พื้นที่ราบสูงโกลันเป็นดินแดนของอิสราเอล โดยเอกอัครราชทูตของทั้ง 5 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยียม และโปแลนด์ ระบุในแถลงการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงเขตแดนแต่เพียงฝ่ายเดียวเป็นเรื่องที่ขัดต่อระเบียบโลกที่อิงกฎหมาย และยังขัดต่อกฎบัตรองค์การสหประชาชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ