เปิดโปรไฟล์ 7 อรหันต์ผ่านเข้ารอบ 2 ศึกชิงเก้าอี้นายกฯอังกฤษ

ข่าวการเมือง Thursday June 13, 2019 20:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาชิกสภาสามัญชนสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมจำนวน 313 คนทำการลงคะแนนเสียงรอบแรกในวันนี้ เพื่อสรรหาผู้ที่จะมาเป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่ ซึ่งจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของอังกฤษโดยอัตโนมัติ

ผลการลงคะแนนปรากฎว่า ในบรรดารายชื่อผู้ที่เสนอตัวเป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่จำนวน 10 คน นายบอริส จอห์นสัน ซึ่งเป็นตัวเก็ง สามารถครองอันดับ 1 โดยได้คะแนน 114 เสียง ทิ้งห่างนายเจเรมี ฮันท์ อันดับ 2 ซึ่งได้ 43 เสียง ส่วนนายไมเคิล โกฟ อันดับ 3 ได้ 37 เสียง ขณะที่นางแอนเดรีย ลีดซัม นางเอสเธอร์ แมควีย์ และนายมาร์ค ฮาร์เปอร์ ไม่สามารถผ่านเข้าสู่การลงคะแนนเสียงในรอบที่ 2 เนื่องจากแต่ละคนได้รับคะแนนเสียงในวันนี้ต่ำกว่า 17 เสียงที่กำหนดไว้

สำหรับการลงคะแนนเสียงในรอบที่ 2 สำหรับผู้ที่เสนอตัวเป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่จำนวน 7 คนที่เหลือ จะมีขึ้นในวันที่ 18 มิ.ย.

*ไทม์ไลน์กระบวนการสรรหานายกฯคนใหม่ของอังกฤษ

อังกฤษกำลังเริ่มต้นกระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อทดแทนนางเทเรซา เมย์ ซึ่งได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นับเป็นวันสุดท้ายสำหรับการเสนอชื่อผู้ที่จะสมัครเป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่

สำหรับตารางเวลาในกระบวนการสรรหาผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมมีดังนี้:-

  • 13 มิ.ย.

สมาชิกสภาสามัญชนสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมจำนวน 313 คนทำการลงคะแนนเสียงรอบแรก โดยผู้สมัครเป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมที่ได้รับเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า 17 เสียงจะสามารถผ่านเข้าสู่การลงคะแนนเสียงในรอบที่ 2

  • 18 มิ.ย.

สมาชิกสภาสามัญชนสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมทำการลงคะแนนเสียงรอบ 2 โดยผู้สมัครจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า 33 เสียง จึงจะผ่านเข้าสู่การลงคะแนนเสียงในรอบต่อไป

หากผู้สมัครทุกรายมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 33 เสียง ผู้สมัครที่มีคะแนนเสียงน้อยที่สุดจะถูกคัดออก

  • 19-20 มิ.ย.

สมาชิกสภาสามัญชนสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมทำการลงคะแนนเสียงรอบสุดท้าย โดยผู้สมัครที่มีคะแนนเสียงน้อยที่สุดจะถูกคัดออกในแต่ละรอบ จนเหลือผู้สมัคร 2 รายสุดท้ายที่จะเข้าสู่การลงคะแนนเสียงของสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมทั่วประเทศจำนวน 160,000 คน

  • 22 มิ.ย.

ผู้สมัคร 2 รายสุดท้ายแสดงวิสัยทัศน์ต่อสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมทั่วประเทศ

  • 22 ก.ค.

ผู้สมัคร 1 ใน 2 รายที่ได้รับคะแนนเสียงมากกว่าจากสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมทั่วประเทศ จะได้รับการประกาศเป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่ ซึ่งจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของอังกฤษ

ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดของผู้ที่เสนอตัวจะมาเป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่จำนวน 7 คนที่สามารถผ่านเข้าสู่การลงคะแนนในรอบที่ 2 พร้อมกับจุดยืนเกี่ยวกับนโยบาย Brexit

*บอริส จอห์นสัน

นายจอห์นสันถือเป็นตัวเก็งอันดับ 1 สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ โดยราคาต่อรองในสำนักพนันที่ถูกกฎหมายในอังกฤษต่างบ่งชี้ว่า นายจอห์นสันจะเป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่แทนนางเมย์

นายจอห์นสัน ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ได้เคยอยู่ร่วมคณะรัฐมนตรีกับนางเมย์ แต่ได้ลาออกในเวลาต่อมา เนื่องจากไม่พอใจต่อการดำเนินการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลง Brexit ของนางเมย์

ก่อนหน้านี้ ในปี 2559 นายจอห์นสัน ซึ่งเป็นอดีตนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ได้เคยประกาศลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม แต่ก็ได้ตัดสินถอนตัวในเวลาต่อมา เนื่องจากนายไมเคิล โกฟ ซึ่งเป็นตัวเก็งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมอีกคนหนึ่ง ได้ยกเลิกการสนับสนุนนายจอห์นสัน เนื่องจากเขาต้องการลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมเช่นกัน

นายจอห์นสันถือเป็นผู้รณรงค์คนสำคัญที่ให้อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป (EU) ในการลงประชามติในปี 2559

เมื่อไม่นานมานี้ นายจอห์นสันกล่าวว่า อังกฤษจะต้องแยกตัวออกจาก EU ในวันที่ 31 ต.ค.ไม่ว่าจะมีการทำข้อตกลงหรือไม่ก็ตาม

นอกจากนี้ นายจอห์นสันยังคัดค้านการจัดการลงประชามติครั้งใหม่เกี่ยวกับ Brexit เนื่องจากจะสร้างความแตกแยกในประเทศ

นายจอห์นสันได้กล่าวในที่ประชุมผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมว่า ชาวอังกฤษจะไม่มีวันให้อภัยพรรคอนุรักษ์นิยม หากอังกฤษไม่ได้แยกตัวจาก EU ในวันที่ 31 ต.ค. และพรรคอนุรักษ์นิยมจะสูญพันธุ์ทางการเมือง

นายจอห์นสันได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

*ไมเคิล โกฟ

นายโกฟถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสูงที่สุดคนหนึ่งในการรณรงค์สนับสนุนการแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU ในการทำประชามติในปี 2559 ขณะนี้ นายโกฟเป็นรัฐมนตรีฝ่ายกิจการสิ่งแวดล้อม อาหาร และชนบทของอังกฤษ และเป็นผู้สนับสนุนนโยบาย Brexit ของนางเมย์

นายโกฟปฏิเสธการทำประชามติ Brexit เป็นครั้งที่ 2 และกล่าวว่า เขาจะทำข้อตกลงการค้าเสรีกับ EU ในรูปแบบของแคนาดา

นายโกฟตั้งเป้าหมายที่จะทำให้อังกฤษแยกตัวออกจาก EU ก่อนวันที่ 31 ต.ค. แม้จะไร้ข้อตกลงก็ตาม โดยเขาเชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะทำให้เกิดความผันผวนในระยะสั้น แต่อังกฤษจะสามารถผ่านพ้นไปได้ และมั่งคั่งขึ้น

อย่างไรก็ดี นายโกฟกล่าวย้ำว่า เขาจะไม่เร่งรีบผลักดันการแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU โดยไร้ข้อตกลง หากสามารถทำข้อตกลงได้

นายโกฟได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

*เจเรมี ฮันท์

นายฮันท์เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศแทนนายจอห์นสันในเดือนก.ค.ปีที่แล้ว หลังจากที่ได้ทำหน้าที่รัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นเวลา 6 ปี

นายฮันท์เคยเป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนให้อังกฤษยังคงรวมตัวกับ EU และแม้ในขณะนี้ เขาพอใจที่อังกฤษจะออกจาก EU โดยมีข้อตกลง แต่เขาก็เชื่อว่าการออกจาก EU โดยไม่มีข้อตกลง ก็ดีกว่าการที่ไม่ได้แยกตัวออกจาก EU

นายฮันท์ไม่ได้ปฏิเสธโดยสิ้นเชิงต่อทางเลือกในการออกจาก EU โดยไม่มีข้อตกลง แต่เขากล่าวว่าจะพิจารณาทางเลือกดังกล่าวเป็นลำดับสุดท้าย

นายฮันท์จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และมีความเชี่ยวชาญในการพูดภาษาญี่ปุ่น

*โดมินิค ร้าบ

นายร้าบได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีฝ่ายกิจการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในปีที่แล้ว หลังจากที่อยู่ในตำแหน่งเพียง 5 เดือน โดยระบุว่า ข้อตกลง Brexit ของนางเมย์ไม่สอดคล้องกับคำมั่นสัญญาของพรรคอนุรักษ์นิยมที่ให้ไว้กับประชาชนในการเลือกตั้งปี 2560

นายร้าบเคยเป็นผู้รณรงค์สนับสนุนการแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU และสนับสนุนให้มีการเจรจากับ EU เพื่อให้มีการทำข้อตกลงที่เป็นธรรมกับอังกฤษ รวมทั้งรื้อการเจรจาในประเด็นศุลกากร และชายแดนไอร์แลนด์เหนือ

นอกจากนี้ นายร้าบยังระบุว่าเขาจะไม่ชะลอการแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU เกินกว่าเดือนต.ค. และพร้อมที่จะแยกตัวโดยไม่มีข้อตกลง ซึ่งเขาคาดว่า หากเกิดกรณีดังกล่าว จะทำให้อังกฤษสามารถประหยัดงบประมาณจำนวน 2.5 หมื่นล้านปอนด์ จากจำนวนที่ต้องจ่ายให้ EU ทั้งหมด 3.9 หมื่นล้านปอนด์เป็นค่าธรรมเนียมแยกตัวออกจาก EU ซึ่งรัฐบาลอังกฤษสามารถนำเงินจำนวน 2.5 หมื่นล้านปอนด์ไปสนับสนุนภาคธุรกิจในการรับมือกับ Brexit

นายร้าบเป็นลูกของชาวยิวอพยพ และเขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

*รอรี สจ๊วต

นายสจ๊วตเป็นอดีตนักการทูตที่เคยเดินทางระยะทาง 6,000 ไมล์ในอิหร่าน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย และเนปาล และขณะนี้เขาเป็นรัฐมนตรีฝ่ายพัฒนาระหว่างประเทศ

นายสจ๊วตได้รับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภาเป็นครั้งแรกในปี 2553 และเขามีจุดยืนในการสนับสนุนให้อังกฤษยังคงรวมตัวกับ EU

นอกจากนี้ นายสจ๊วตคัดค้านการแยกตัวจาก EU โดยไม่มีการทำข้อตกลง และเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของนางเมย์ในการเจรจาข้อตกลงกับ EU ซึ่งถูกรัฐสภาอังกฤษปฏิเสธมา 3 ครั้ง แต่นายสจ๊วตกล่าวว่า เขาจะไม่เปลี่ยนแปลงข้อตกลงดังกล่าว และผู้ใดที่พูดว่าพวกเขาสามารถแก้ไขข้อตกลง Brexit ภายในเดือนต.ค.กำลังหลอกลวงตัวเอง และหลอกลวงประเทศ

นายสจ๊วตได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

*ซาจิด จาวิด

นายจาวิดเป็นอดีตนายธนาคาร และเป็นผู้สนับสนุนระบอบตลาดเสรี โดยเขาเคยรับตำแหน่งในรัฐมนตรีหลายกระทรวง

นายจาวิดสนับสนุนให้อังกฤษยังคงรวมตัวอยู่กับ EU แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาเคยต่อต้าน EU ก็ตาม

นายจาวิดต้องการปรับปรุงข้อตกลง Brexit และหวังว่าจะผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา แต่เขาก็พร้อมที่จะให้อังกฤษแยกตัวออกจาก EU โดยไม่มีข้อตกลง หากข้อตกลง Brexit ไม่สามารถผ่านการรับรองจากรัฐสภา

นอกจากนี้ นายจาวิดยังคัดค้านการทำประชามติ Brexit ครั้งใหม่

นายจาวิดเป็นผู้อพยพจากปากีสถานรุ่นที่ 2 โดยมีบิดาเป็นคนขับรถบัส และเขาได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอ็กซ์เตอร์

*แมทท์ แฮนค็อก

นายแฮนค็อกเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข และเป็นอดีตนักวิเคราะห์ของธนาคารกลางอังกฤษ โดยเขามีจุดยืนสนับสนุนให้อังกฤษรวมตัวกับ EU

นายแฮนค็อกได้รับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภาเป็นครั้งแรกในปี 2553 และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง

นายแฮนค็อกคัดค้านการแยกตัวจาก EU โดยไร้ข้อตกลง และเขาเปิดทางสำหรับการที่อังกฤษจะนำข้อตกลง Brexit ไปเจรจาครั้งใหม่กับ EU เพื่อให้สามารถผ่านการรับรองของรัฐสภา

นายแฮนค็อกระบุว่า พรรคอนุรักษ์นิยมจำเป็นที่จะต้องดึงคะแนนเสียงทั้งจากกลุ่มที่สนับสนุน และคัดค้าน Brexit หลังจากที่ทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวหันไปสนับสนุนพรรคการเมืองอื่น

นอกจากนี้ นายแฮนค็อกยังกล่าวว่า เขามีแผนที่จะทำการเจรจาครั้งใหม่กับ EU เกี่ยวความสัมพันธ์กับอังกฤษหลัง Brexit และจะหาทางแก้ไขข้อตกลงการแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU

นายแฮนค็อกระบุว่า "เราจำเป็นที่จะต้องออกจาก EU โดยมีข้อตกลงก่อนวันที่ 31 ต.ค. ซึ่งผมยังคงเชื่อว่ามีความเป็นไปได้"

นายแฮนค็อกได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ