ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนร่วมถกประเด็นผู้อพยพโรฮิงญา

ข่าวต่างประเทศ Friday January 17, 2020 14:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รัฐมนตรีต่างประเทศจากชาติอาเซียนเข้าร่วมการประชุมตามกำหนดการซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วันที่เวียดนาม โดยมีประเด็นเรื่องความตึงเครียดในทะเลจีนใต้และการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับเมียนมา เป็นหัวข้อหลักที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาร่วมหารือในครั้งนี้

สื่อต่างประเทศรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำคืนวานนี้ บรรดารัฐมนตรีที่มาร่วมการประชุมได้เห็นพ้องกับข้อเสนอของสหรัฐที่จะจัดการประชุมนัดพิเศษกับชาติสมาชิกอาเซียนในวันที่ 14 มี.ค.นี้ โดยจะหารือในประเด็นดังกล่าวร่วมกันอีกครั้งก่อนให้คำตอบ

รายงานระบุว่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ได้ออกมาเปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการรับประทานอาหารค่ำร่วมกับรัฐมนตรีรายอื่นๆว่า ระหว่างรับประทานอาหาร ได้มีการหารือกันในประเด็นเรื่องผู้อพยพชาวโรฮิงญา โดยผู้แทนจากเมียนมาได้อธิบายรายละเอียดของคำให้การที่นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา ได้กล่าวต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ หลังถูกแกมเบีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมในแอฟริกา ยื่นฟ้องเมียนมาต่อศาลโลกเมื่อวันที่ 11 พ.ย. โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC)

ทั้งนี้ นางซูจีให้การต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ว่า ข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลเมียนมาได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญานั้น เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่สมบูรณ์ และสร้างความเข้าใจผิด

นางซูจีกล่าวต่อตุลาการศาลโลกว่า ปฏิบัติการของกองทัพในรัฐยะไข่ในเดือนส.ค.2560 เป็นการดำเนินการเพื่อกวาดล้างกลุ่มก่อการร้าย หลังกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาได้ทำการโจมตีสถานีตำรวจหลายสิบแห่ง โดยนางซูจียืนยันว่า ปฏิบัติการของกองทัพดังกล่าวไม่ใช่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา

อย่างไรก็ดี รายงานระบุว่า ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คนได้อพยพออกจากรัฐยะไข่ของเมียนมาเพื่อไปยังบังกลาเทศนับตั้งแต่เดือนส.ค.2560 เพื่อหลบหนีการกวาดล้างของทหารเมียนมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ