ผู้แทนยูเอ็นเรียกร้องการคุ้มครองเด็กมากขึ้น ขณะวิกฤตทั่วโลกทวีความรุนแรง

ข่าวต่างประเทศ Tuesday September 9, 2014 18:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางไลลา เซอร์รูกี ผู้แทนพิเศษฝ่ายเยาวชนและความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธของสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ระบุว่า แม้ว่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้นในการคุ้มครองเด็กๆจากเหตุการณ์ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ แต่วิกฤตการณ์ใหม่ๆได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าความคืบหน้าดังกล่าว

เธอได้แสดงความคิดเห็นดังกล่าวในการอภิปรายแบบเปิดกว้างเกี่ยวกับประเด็นนี้ของคณะมนตรีความมั่นคง

นางเซอร์รูกีเน้นย้ำกว่า เธอรู้สึกหวาดกลัวกับการกระทำที่ไม่คำนึงถึงชีวิตมนุษย์ของกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง เช่น กลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนต์ (ISIL) และโบโกฮารามในไนจีเรีย

กลุ่ม ISIL หรือที่รู้จักกันในชื่อกลุ่มรัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย (ISIS) หรือเรียกกันง่ายๆว่า รัฐอิสลาม (IS) นั้น เป็นกลุ่มที่แยกออกมาจากกลุ่มอัล-กออิดะห์ที่บุกยึดดินแดนในอิรักและซีเรีย อีกทั้งยังได้บีบบังคับให้ประชาชนหลายพันคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย ต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัยอีกด้วย

เธอระบุว่า "เราทราบว่านับตั้งแต่ช่วงต้นปี มีเด็กๆจำนวนมากถึง 700 คนถูกฆ่า หรือถูกทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสจากปฏิบัติการรุกรานในอิรัก กลุ่ม ISIL ใช้ให้เด็กผู้ชายอายุ 13 ปีแบกอาวุธ เฝ้ายามสถานที่สำคัญๆทางยุทธศาสตร์ หรือจับกุมพลเรือน ขณะที่เด็กคนอื่นๆถูกใช้ในปฏิบัติการระเบิดฆ่าตัวตาย"

ผู้แทนพิเศษของยูเอ็นยังกล่าวอีกว่า กลุ่มโบโกฮารามได้โจมตีโรงเรียนต่างๆ โดยได้สังหารเด็กนักเรียนอย่างน้อย 100 คน และครูอีก 70 คนในปีที่แล้ว ขณะที่เด็กผู้หญิงกว่า 200 คนที่ถูกกลุ่มโบโกฮารามลักพาตัวไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยังคงสูญหายจนถึงตอนนี้ ขณะเดียวกันกลุ่มโบโกฮารามก็ยังคงโจมตี และลักพาตัวเด็กคนอื่นๆต่อไป

นอกจากนี้ นางเซอร์รูกียังให้ความสนใจกับสถานภาพของเด็กๆในเหตุการณ์ความขัดแย้งเมื่อเร็วๆนี้ อย่างในกาซาและซูดานใต้ โดยว่า เด็กๆที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งดังกล่าวและในเหตุการณ์ความขัดแย้งอื่นๆนั้น กำลังอยู่ในขั้นวิกฤต

เธอย้ำว่า ปัญหาเกี่ยวกับเด็กๆเป็นประเด็สำคัญ เนื่องจากพวกเขาเป็นเป้าหมายและถูกใช้ประโยชน์อย่างจงใจในเหตุการณ์ความขัดแย้งส่วนใหญ่ทั่วโลก

"เด็กๆเป็นอนาคตของสังคม สันติภาพที่ยั่งยืนจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่มีการให้ความสำคัญ ทักษะ และการศึกษาแก่เด็กๆ เพื่อฟื้นฟูสังคมและสถาบันต่างที่ถูกทำลายจากความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธโดยกลุ่มผู้ก่อการร้าย เราต้องดำเนินการมากขึ้นในการเพิ่มมาตรการพิเศษไว้ในข้อตกลงสันติภาพ เพื่อช่วยเหลือเด็กๆที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง"

ทั้งนี้ ขณะที่เธอเรียกร้องต่อคณะมนตรีความมั่นคงให้ "คำนึงถึงเด็กเป็นจุดศูนย์กลางในการที่จะดำเนินแต่ละมาตรการด้านความมั่นคงและสันติภาพนั้น นางเซอร์รูกีกล่าวว่าประชาคมโลกต้องใช้เครื่องมือที่ตนเองมีอยู่ให้เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้ก่อการร้ายจะต้องได้รับโทษทางอาญา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ