จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก เริ่มใช้นโยบายการวางแผนครอบครัวเป็นครั้งแรกในช่วงปี 2513 เพื่อควบคุมจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยระบุให้คู่แต่งงานในเมืองมีบุตรเพียง 1 คน และคู่แต่งงานในชนบทมีบุตรได้ 2 คน หากบุตรคนแรกเป็นเพศหญิง
อย่างไรก็ดี จีนเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าวครั้งใหญ่ในช่วงปลายปี 2556 โดยกำหนดว่าคู่แต่งงานทั่วประเทศสามารถมีบุตร 2 คนได้ หากคู่แต่งงานคนใดคนหนึ่งเป็นลูกคนเดียว
ทั้งนี้ นโยบายลูกคนเดียวของจีนสร้างปัญหาทางสังคมมากมายในช่วงหลายปีนี้
รายงานระบุว่า ในปี 2555 แรงงานของจีนลดลง 3.45 ล้านคนเมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการ "ลดลงอย่างแท้จริง" นับตั้งแต่จีนเริ่มการปฏิรูปและเปิดประเทศในปี 2522
ในปี 2556 จำนวนประชากรจีนที่อายุมากกว่า 60 ปี พุ่งขึ้นเกิน 202 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.53 ล้านคนจากตัวเลขปี 2555 และคิดเป็น 15% ของประชากรทั้งหมด
นอกจากนี้ นโยบายลูกคนเดียวยังส่งผลกระทบเกี่ยวกับความสมดุลเรื่องเพศของประชากร เนื่องจากพ่อแม่ชาวจีนต้องการมีลูกชายมากกว่าลูกสาว โดยสัดส่วนเด็กเกิดใหม่ปี 2557 เพศชายต่อเพศหญิงอยู่ที่ 115.88 ต่อ 100